ผุดหลักสูตรประกาศนียบัตรครูแทน"ป.บัณฑิต" ขยายไปถึงกลุ่มนักเรียนม.ปลาย
ผุดหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เป็นแนวทางให้สถาบันผลิตครู เลือกใช้แทน ป.บัณฑิต “เอกชัย” เผยสามารถ ขยายไปถึงกลุ่มนักเรียนในระดับม.ปลาย ลงเรียนเก็บหน่วยกิตไว้ก่อน เชื่อ เป็นการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเรียนต่อสาขาครู
นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพครู (กมว.) กล่าวว่า ตามที่ กมว.มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพของหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) นั้น โดยคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ จะทำหน้าพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางให้สถาบันผลิตครูพิจารณาเลือกนำไปใช้ทดแทนหลักสูตร ป.บัณฑิต ซึ่งในเบื้องต้นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูนี้ จะเรียนวิชาครู 35 หน่วยกิต ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.) 2 เหมือนกับการเรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ระดับปริญญาตรี และมหาวิทยาลัยสามารถปรับหลักสูตรให้เข้ากับปัจจุบันได้ตลอด เนื่องจากไม่ต้องมีการรับรองหลักสูตร ทั้งนี้ เมื่อผู้เรียนเข้ารับการศึกษาจบหลักสูตรดังกล่าวแล้ว จะต้องผ่านทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยจะทดสอบในส่วนของวิชาชีพครูก่อน เมื่อสอบผ่านก็จะได้รับใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู สามารถนำไปใช้ในสมัครเป็นครูได้ และเมื่อสอนตามวิชาเอกระยะเวลาครบตามที่หลักสูตรฯ กำหนด ก็จะมีอาจารย์จากหลักสูตรฯ มาประเมิน และได้ใบรับรองมาใช้ในการทดสอบในส่วนของวิชาเอกต่อไป เมื่อสอบผ่านครบแล้วจึงจะได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวจะขยายไปถึงกลุ่มนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่สนใจจะศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็สามารถมาลงเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครูกับสถาบันผลิตครู เพื่อเก็บหน่วยกิตไว้ก่อนได้ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แต่มหาวิทยาลัยจะต้องสอนแยกกับกลุ่มผู้ที่เรียนจบในสาขาอื่นแล้วต้องการจะเป็นครู ซึ่งหากนักเรียนกลุ่มนี้สนใจที่จะศึกษาต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ก็สามารถสมัครได้โดยไม่ต้องสอบวิชาวัดแววความเป็นครู เนื่องจากได้เรียนวิชาครูขั้นพื้นฐานไปแล้ว อีกทั้งจะทำให้เด็กกลุ่มนี้จบการศึกษาเร็วกว่าปกติ ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะเป็นอีกมิติหนึ่งในการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเรียนต่อในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ได้ เพราะเด็กจะได้รู้ตัวเองว่าที่เรียนไปนั้นชอบหรือไม่
“หลักสูตรนี้ผมมองว่ามหาวิทยาลัยจะมีอิสระมากขึ้น ในการบริหารจัดการหลักสูตร จะสอนแบบไหน สอนอย่างไร ช่วงเวลาใด แต่จำนวนชั่วโมงต้องครบตามหน่วยกิตที่กำหนด ทั้งนี้ในส่วนของการติดตามกำกับมาตรฐานของหลักสูตรนั้น ไม่ต้องห่วง เพราะการกำกับ คือ การทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งข้อดีของหลักสูตรนี้ คือ คนที่ไม่ได้เรียนครูมาจะได้เรียนวิชาพื้นฐานของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เลย และจะทำให้ลดปัญหาผู้ที่เรียนในคณะอื่นๆ จบมาไม่มีงานทำก็มาเรียนป.บัณฑิต เพื่อที่จะเป็นครู โดยเรื่องนี้จะมีการหารือในคณะอนุกรรมปรับปรุงประสิทธิภาพของหลักสูตรป.บัณฑิต ก่อนจะเสนอให้ กมว.พิจารณาต่อไป”ประธาน กมว.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563