การสร้างความ “รัก” และความ “ภาคภูมิใจ” ในถิ่นฐานบ้านเกิด เป็นพื้นที่ฐานสำคัญที่สามารถทำให้คนในชุมชนหันกลับมารวมพลังกันพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นเป็นพลังสำคัญของชุมชนในอนาคต
แต่การที่จะสร้างความรักและภาคภูมิใจในบ้านเกิดของตัวเองนั้น สิ่งสำคัญก็คือคนในชุมชนจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนของตนเองเสียก่อน
ด้วยเหตุนี้ทาง สภาเด็กและเยาวชนตำบลเกตรี จึงได้จัดทำ “โครงการเกตรีมีสุขสนุกทุกการเรียนรู้” ภายใต้การดูแลของ “โครงการพื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมสร้างสุข เรียนรู้ อ่าน กิน เล่น ให้เป็นเรื่องสร้างเสริมสุขภาพ” โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อที่จะชักชวนให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ทั้ง 7 หมู่บ้านของตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มาร่วมกันเรียนรู้ประวัติศาสตร์และความเป็นมา ภูมิปัญญาต่างๆ ของชุมชน เพื่อที่จะได้รู้จักและรักในภูมิลำเนาตนเอง
นางสาวราฎา กรมเมือง ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เล่าถึงที่มาของโครงการเกตรีมีสุขสนุกทุกการเรียนรู้ให้ฟังว่า เกิดขึ้นจากความคิดของเด็กและเยาวชนกว่า 30 คนในพื้นที่ๆ อยากจะรู้เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน ประวัติศาสตร์ของชุมชน และของดีของเด่นในชุมชน ก่อนที่ร่วมกันค้นหาศึกษาและขมวดปมเข้ามาจนพบประเด็นหรือเรื่องราวที่น่าสนใจในชุมชนที่ประกอบไปด้วย ขนมพื้นบ้าน ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของชุมชน และตำนานเรื่องเล่าที่คนเฒ่าเล่าสืบต่อกันมา
“วันนี้เรามาหาข้อมูลเรื่องความเป็นมาของตำบลของเรา ว่าทำไมถึงเรียกว่าตำบลเกตรี ตำบลนี้มีกี่หมู่บ้าน ชื่อเสียงเรียงนามเขาเรียกขานกันมาเพราะอะไร แล้วก็เรื่องที่เราเด่นๆ ของตำบลก็คือตำนานและเรื่องเล่าต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อว่าข้าวอัลฮัม หรือข้าวอัลฮัมดุลิลละห์ ที่แปลว่าขอบคุณพระเจ้า ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองที่อยู่คู่กับคนเกตรีมานาน แล้วก็ตอนนี้เราก็มีความภูมิใจที่ข้าวชนิดนี้สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตำบลของเรา” ราฎากล่าว
หลังจากเข้าไปขอข้อมูลและความรู้เรื่องตำนานและประวัติศาสตร์ของชุมชนจาก “นางฮาหวา กองพล” วัย 72 ปี ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชน และยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำขนมพื้นบ้านที่ชื่อว่า “ขนมบุหงาปูดะ” ซึ่งหาทานได้ยากแล้ว น้องๆ กลุ่มนี้ยังออกเดินทางไปยังบ้านของ “นายมะหะหมุด หลี่นิ่ง” อายุ 63 ปี ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ปลูกข้าวสายพันธุ์อัลฮัมหรือ “ข้าวอัลฮัมดุลิลละห์” เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับข้าวสายพันธุ์นี้
ด.ช.อับดุลมุคนี ขุนรักษ์ หรือ “มุค” วัย 14 ปี เล่าให้ฟังว่า วันนี้ได้เรียนรู้และเก็บข้อมูลเรื่องของประวัติศาสตร์ของชุมชน ทำให้ได้รู้ว่าชื่อของหมู่บ้าน “เกตรี” นั้นมีที่มาจากคำว่า “บูเก็ตตรี” ที่หมายถึงภูเขาที่ตั้งทางด้านทิศเหนือของชุมชนหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เขาพระนาง" ซึ่งกั้นพรมแดนระหว่างประเทศ ไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีเรื่องเล่าและตำนานมากมายที่น่าสนใจ
“มีเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมากก็คือเรื่องเล่าของนายมาลีกี อาดำ ซึ่งเป็นกำนันเป็นคนดีที่แท้จริงเขาดูแลหมู่บ้านของเราเป็นอย่างดี เป็นผู้เสียสละใครมาขออะไรก็ให้ แล้วตอนที่มีเรื่องคอมมิวนิสต์สู้รบกันคนไทยพุทธจำนวนมากนั้น ผู้คนก็หนีมาพึ่งพากำนันคนนี้ ท่านก็ช่วยเหลืออย่างดีจนทำให้ในที่สุดชุมชนของเราก็มีทั้งคนไทยพุธและมุสลิมอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่บัดนั้น” มุคเล่าอย่างตื่นเต้น
น.ส.อัสมียา กรมเมือง หรือ “โรส” วัย 19 ปี เล่าถึงข้าวพื้นบ้านพันธุ์อัลฮัมว่า เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่าในชุมชนของเรามีข้าวพันธุ์นี้ แต่พอได้เข้าไปเรียนรู้ก็เลยรู้สึกว่าชุมชนของเราก็มีของดีมากมาย อย่างข้าวพันธุ์ข้าวอัลฮัมดุลิลละห์นี้มีข้อดีคือกินอิ่มนานอิ่มทน
นายภารดร พงศ์สวัสดิ์ หรือ “ตรี” วัย 16 ปี กล่าวเสริมว่าเมื่อได้เรียนรู้ถึงเรื่องราวและข้อดีของข้าวพันธุ์อัลฮัมแล้ว ทุกคนก็เลยมีแนวคิดที่จะพัฒนาข้าวพื้นเมืองของเราให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เพราะเมื่อเรามีของดีแล้วก็อยากที่จะเผยแพร่ให้กับคนอื่นได้รับรู้ด้วย
“ข้อดีของข้าวอัลฮัมคือกินอิ่มท้องอิ่มนานมีเรี่ยวแรงในการทำงานมากขึ้น พวกผมก็เลยคิดว่าเราน่าจะแปรรูปข้าวพันธุ์นี้เป็นเครื่องดื่มให้กำลังงาน เช่น น้ำนมข้าว” นายอัพดอล พงค์สวัสดิ์ หรือ “ดอล” วัย 19 ปี กล่าวเสริมถึงแนวคิดการเพิ่มมูลค่าของพวกเขา
เช่นเดียวกันกับ นายมูฮัมหมัด แก้วสล่า หรือ “ยิบ” วัย 16 ปีที่ระบุว่าหลังจากนี้พวกเขาจะลองศึกษาหาวิธีการปลูกข้าวอัลฮัมเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องของข้าวพันธุ์พื้นเมืองอย่างแท้จริง
“ทุกคนต้องกินข้าว ดังนั้นข้าวจึงขายได้ตลอด แล้วถ้าพวกเราอยากจะมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเอง ปีหน้าเราเลยคิดที่จะปลูกข้าวเอง ทำนาเอง เพื่อที่จะศึกษาเรื่องข้าวและวิธีการเพาะปลูกว่าเราจะสามารถนำข้าวที่ได้ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง” ยิบเล่า
“เป้าหมายจริงๆ เราอยากเห็นพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้เขาหันมาสนใจเรื่องราวของชุมชนมากกว่าหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ เราคาดหวังที่จะให้เด็กหันมาเห็นชุมชน หันมาภาคภูมิใจในชุมชน แล้วเขาจะอยากเข้ามาเพื่อพัฒนาชุมชนเขา หลังจากที่เราทำโครงการนี้มา 1 ปี น้องๆ ก็ต่อยอดในเรื่องของการรับโครงการเรื่องของสตูลแอคทีฟซิตี้เซน กลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล ซึ่งได้มาต่อยอดในเรื่องของข้าวพื้นเมือง ที่ปีนี้เรามาลงลึกที่เรื่องของข้าวอย่างเดียวเลยว่า ขั้นตอนการทำนาทำอย่างไร ได้ข้าวมาแล้วสามารถไปแปลงทำอะไรได้บ้าง เป็นการสานต่อของดีที่มีในชุมชน ที่เมื่อทำแล้วให้จะเกิดผลลัพธ์ที่ดีเกิดขึ้นในชุมชนของพวกเขา” ราฎา กรมเมือง กล่าวสรุป
“เกตรีมีสุขสนุกทุกการเรียนรู้” ที่บ้านเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล จึงไม่ได้เป็นแค่โครงการหรือกิจกรรมที่ทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการมาสนุกกับการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ในชุมชน ควบคู่ไปกับทำให้เกิดการลดช่องว่างระหว่างวัย ด้วยกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสานสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนเด็กรุ่นใหม่
แต่เป็นโครงการที่สามารถขยายผลไปสู่การสร้างแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่สนใจที่จะต่อยอดและสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านของพวกเขาให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ที่มีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้อีกด้วย.