เมื่อวัน พุธ ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ตัวแทนของศึกษานิเทศก์และ ครู ค.ศ.๑ ขอทวงสิทธิ์ต่อคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ในการสอบบรรจุเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐสภา
นายธรรมรงค์ เสนจันทร์ ในนามเลขาธิการสมาพันธ์ครู – ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นางสาวสุพรรษา ธรรมสโรช ศึกษานิเทศก์ สพม.๒๕ พร้อมตัวแทนศึกษานิเทศก์และครูที่ได้รับผลกระทบ ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความชอบธรรมต่อนายนพคุณ รัฐผไท ประธานคณะกรรมาธิการ และนายปรีดา บุญเพลิง กรรมมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ให้กับศึกษานิเทศก์ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ไม่มีวิทยฐานะ ที่ประสงค์จะสมัครเข้ารับการคัดเลือก ให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยเรียกร้องให้ ก.ค.ศ. มีมติทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.๒๕๖๓ โดยมูลเหตุที่ทำให้เสียสิทธิ์ เนื่องจาก ก.ค.ศ. ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา คือ ต้องเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ครูมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔ ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี และ ๒ ปี สำหรับ วุฒิปริญญาโท ทำให้ศึกษานิเทศก์ไม่เป็นผู้มีคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากสพฐ. ตีความว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำรงตำแหน่งครู ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่จะมาเป็นศึกษานิเทศก์ ได้ดำรงตำแหน่งครูมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔ ปี เป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ. กำหนด ส่งผลให้ศึกษานิเทศก์ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย ถูกลิดรอนสิทธิ ความเสมอภาคและโอกาสในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกดังกล่าว
อีกทั้ง ก.ค.ศ. ได้กำหนดให้บุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค (๒) ประเภทวิชาการ ตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับปฏิบัติการและรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการ เป็นผู้มีคุณสมบัติ สมัครเข้ารับการคัดเลือก เพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค (๒) ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ครู ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับศึกษานิเทศก์ รวมทั้งบุคคลดังกล่าวไม่เคยมีประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งครู แต่เหตุใด จึงเป็นผู้มีคุณสมบัติในการสอบครั้งนี้ ในทางตรงกันข้ามศึกษานิเทศก์ ซึ่งเป็นบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค (๑) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ครู มาแล้วไม่น้อยกว่า ๔ ปี และเคยปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา กลับไม่เป็นผู้มีสิทธิ์สอบ ตามหลักเกณฑ์นี้ จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคในโอกาส หลักคุณธรรม หลักความสามารถ หลักความมั่นคงในอาชีพ ทำลายขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ และตัดตอนความก้าวหน้าในวิชาชีพ
ทั้งนี้ ตัวแทนศึกษานิเทศก์ที่ได้รับผลกระทบระบุว่า ในส่วนของการกำหนดองค์ประกอบ ตัวชี้วัด และคะแนนการประเมิน ภาค ข ข้อ ๔ วิทยฐานะ/ระดับตำแหน่ง ระบุให้ผู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการ ได้คะแนน ๖ คะแนน ชำนาญการพิเศษ ๘ คะแนน และตั้งแต่เชี่ยวชาญขึ้นไป ๑๐ คะแนน ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ ส่งผลให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีวิทยฐานะ ที่สมัครเข้ารับการคัดเลือกไม่มีคะแนนในข้อนี้ จึงได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะหลักเกณฑ์การให้คะแนนแตกต่างจากการคัดเลือกในครั้งก่อนๆ ที่ระบุให้ผู้ที่ไม่มีวิทยฐานะ ได้คะแนน ๔ คะแนน ในองค์ประกอบ/ตัวชี้วัดนี้ จึงถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่มีวิทยฐานะ ก็ดำรงตำแหน่ง ครู ซึ่งมีศักดิ์และสิทธิ์ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงไม่ต่างกับผู้มีวิทยฐานะ สมควรจะได้คะแนน ๔ คะแนน ในองค์ประกอบนี้ จึงถือเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ที่ไม่มีวิทยฐานะ ดังกล่าว
ในนามศึกษานิเทศก์ และข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จึงขอเรียกร้องสิทธิ และความชอบธรรมของศึกษานิเทศก์ และขอให้ ก.ค.ศ. มีมติ ทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ปี พ.ศ.๒๕๖๓ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ เป็นผู้มีคุณสมบัติในการสอบดังกล่าว