ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเวียดนาม รับมือโควิด-19 หลังศธ.เวียดนามสั่งปิดโรงเรียน ปรับแผนการเรียนทางไกลผ่านออนไลน์เชื่อมโลกไร้พรมแดนแทน สร้างทักษะการเรียนรู้สู่อนาคต
ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศเวียดนาม ปรับแผนการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบออนไลน์ ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (covid-19)
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 (covid-19) ที่ส่งผลกระทบมากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเทศในกลุ่มเสี่ยงของการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดทางตอนเหนือของเวียดนามซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดหล่าวกาย ห่าซาง กาวบั่ง หลั่งเซิน เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลเวียดนามได้มีมาตรการเร่งด่วน โดยกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรมเวียดนามได้สั่งให้ปิดโรงเรียนต่าง ๆ ต่อจากการปิดเทศกาลตรุษญวน (Tết) ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2563 หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาและยังคงปิดโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
นายสุรชัย ดิ่งสวัสดิ์ นักธุรกิจและอาสาสมัครมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ในช่วงการสั่งปิดโรงเรียนในเวียดนาม ครูทราน ติ ตวย ดุง (Trần Thị Thuỳ Dung) ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศเวียดนาม ปี 2558 อดีตครูใหญ่และครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประถม Le Ngoc Han Primary School ผู้ริเริ่มทำให้เกิดต้นแบบโรงเรียนประถมรูปแบบใหม่ หรือ “เวียดนามนิวสคูลโมเดล” ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาธิการจังหวัดหล่าวกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดชายแดนประเทศจีน ได้ติดต่อประสานมายังมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในการขอการสนับสนุนการจัดการศึกษาทางไกลผ่านออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะการสื่อสารภาษาอังกฤษในช่วงที่โรงเรียนยังอยู่ในมาตราการสั่งปิดโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
นายสุรชัยเปิดเผยว่า ทางมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้ร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้ทางไกลผ่านออนไลน์ ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลหนองคาย (โรงเรียนประถมศึกษา) และโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร (โรงเรียนมัธยมศึกษา) ในการร่วมกันจัดการเรียนรู้ออนไลน์เพื่อให้เด็กนักเรียนเวียดนามเชื่อมต่อการเรียนรู้กับครูไทย และสื่อสารภาษาอังกฤษกับเด็กนักเรียนไทย โดยผ่านกิจกรรมการใช้ video call พูดคุย ไปจนถึงการประชุมผ่าน video conference และการใช้ platform online ในการแลกเปลี่ยนระหว่างครูไทยกับครูในโรงเรียนต่าง ๆ ของเวียดนาม ซึ่งนับว่าในสถานการณ์วิกฤตนี้ การใช้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นวิธีการสำคัญที่ช่วยให้ครูในโรงเรียนต่าง ๆ ยังคงจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ แม้จะยังปิดโรงเรียน
“เช่นเดียวกันกับ ครูเลอ ทัน เลียม ครูสอนวิชาฟิสิกส์และเทคโนโลยี โรงเรียนฮิม ลัม ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2562 จากประเทศเวียดนาม ปีล่าสุด ก็ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ (mobile phone) เป็นเครื่องมือสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในสถานการณ์วิกฤตนี้เช่นกัน” นายสุรชัย กล่าว