สพฐ.-สทศ.ตั้งคณะทำงานร่วมวิเคราะห์ข้อสอบโอเน็ต หลังพบเสียงสะท้อนจากนักเรียนข้อสอบมีความยากและซับซ้อน ไม่เชื่อมโยงกับการเรียนการสอนในห้องเรียน
เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้ประชุมถึงแนวทางการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้น 1 ชุด เนื่องจากได้รับเสียงสะท้อนว่าข้อสอบโอเน็ตของสทศ.ในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นข้อสอบที่มีความยากและคำถามซับซ้อนไม่สอดคล้องกับการเรียนการสอนในห้องเรียนของเด็ก
ดังนั้นคณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะมาวิเคราะห์การออกข้อสอบร่วมกัน รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้ในการสอบโอเน็ตให้แก่เด็ก เนื่องจากพบว่าเด็กไม่ได้ตั้งใจกับการสอบดังกล่าว เพราะเห็นว่าการสอบโอเน็ตไม่ได้นำผลการสอบไปใช้ประโยชน์กับการศึกษาต่อเท่าที่ควร อีกทั้งเด็กบางคนมีความประสงค์จะไปเรียนต่อต่างประเทศก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับการสอบด้วย
ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้การสอบโอเน็ตของนักเรียนม.6 มีผลในการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาแบบ 100% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทั้งสองหน่วยงานจะต้องกลับมาทบทวนวิเคราะห์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสอบโอเน็ตให้มีความเหมาะสมในอนาคตต่อไป
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้อยากให้มีการรายงานผลคะแนนการสอบโอเน็ตในรูปแบบแบ่งกลุ่มโรงเรียน เช่น ผลคะแนนการสอบโอเน็ตกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส กลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เป็นต้น เนื่องจากเราต้องยอมรับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพโรงเรียนได้อย่างตรงจุด อีกทั้งจะได้เติมเต็มคุณค่าการสอบโอเน็ตให้มากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกันสพฐ.เตรียมจะปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ซึ่ง สทศ.เองก็ต้องเรียนรู้ เพื่อวางแผนข้อสอบโอเน็ตให้เชื่อมโยงไปกับหลักสูตรใหม่ด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563