13ก.พ.63-นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ขณะนี้ถือว่าลงตัวแล้วในเรื่องการคืนอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53(3)และ(4) แห่ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 โดยให้มีการตั้งอ.ก.ค.ศ.จังหวัด และตั้ง อ.ก.ค.ศ.สพฐ.เพื่อให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายมาอยู่ที่หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งสำนักนิติการของ สพฐ.อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขกฎหมายทีเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 16 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค หลังจากนั้นเสนอการปรับแก้ไขกฎหมายให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นการให้เพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุก 77 จังหวัดตามมติของที่ประชุมสภาการศึกษา (สกศ.) นั้น ขณะนี้สำนักมัธยมศึกษาตอนปลายและกลุ่มพัฒนาระบบบริหารของ สพฐ.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการขยาย โดยยึดหลักเกณฑ์ความสะดวกสบายในคมนาคม ค่าสัมปสิทธิ์จำนวนโรงเรียน นักเรียน และครู เช่น จังหวัดใดมีพื้นที่ห่างไกลกันมาก็ให้จัดตั้ง สพท.จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนจังหวัดใดที่ไม่ไกลกันมากก็ให้รวม 2 จังหวัดเป็น 1 เขตพื้นที่
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัดจะสวนทางกับนโยบายรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้เพิ่มส่วนราชการหรือเพิ่มอัตราข้าราชการหรือไม่ นายอำนาจ กล่าวว่า เรื่องนี้ สพฐ.จะศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งที่แน่ๆ โรงเรียนไม่ได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่สพฐ.กังวลในเรื่องนี้ คือ ไม่อยากให้มีการเพิ่ม สพม.ครบทุกจังหวัด โดยในประเด็นนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาและวิเคราะห์ดูเหตุผลความเหมาะสม เนื่องจากโครงสร้างเขตพื้นที่ทุกวันนี้ที่มี สพม.ไม่ครบทุกจังหวัด ส่งผลให้ สพม.บางแห่งต้องไปอาศัยโรงเรียนเป็นสถานที่ทำงาน อีกทั้งการปรับโครงสร้าง ศธ.ในภูมิภาคเมื่อปี 2560 ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เกิดขึ้นบุคลากรบางส่วนของเขตพื้นที่ก็ไปอยู่กับ กศจ. ดังนั้น ในเรื่องนี้เรากำลังชั่งน้ำหนักดูความเหมาะสม ทั้งนี้ตนไม่ได้เร่งรัดให้สรุป แต่อยากวิเคราะห์กันรอบด้านก่อนไม่ว่าจะเป็นอัตรากำลัง สถานที่ และงบประมาณ แต่ตัวเลขการเพิ่มสพม.คาดว่าจะเพิ่มได้อีกไม่เกิน 20 เขต
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563