เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยว่า สกศ.กำลังเร่งจัดทำกรอบฐานสมรรถนะผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละช่วงชั้น โดยนำสมรรถนะตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ และสมรรถนะผู้เรียนที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)ได้วิจัยไว้มาเป็นกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ และประกาศใช้ต่อไป เพราะการปฏิรูปการเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่ต้องทำเป็นลำดับต้น ๆ
“จากการติดตามประเมินผลหลังการประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561 สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบ คือ ในยุทธศาสตร์ชาติด้านการเรียนการสอน ว่า เกิดผลลัพธ์ที่เด็กมีคุณภาพและคุณสมบัติ 3 อาร์ 8 ซี ซึ่งเป็นทักษะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่นั้น ปรากฎว่ายังไม่ถึงเป้าหมาย การจัดการเรียนการสอนยังไม่สอดรับ ยังไม่มุ่งเน้นสมรรถนะ ดังนั้น ต้นตอคือ หลักสูตร และ ครู ที่ต้องปรับหลักสูตรและปรับทัศนคติการจัดการเรียนการสอนใหม่ และมีการขับเคลื่อนสมรรถนะ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิรูปการศึกษาให้เป็นมรรคผล” รองเลขาธิการ สกศ.กล่าว
ทั้งนี้คุณสมบัติ 3R (อาร์) และ 8C (ซี) ซึ่งเป็นทักษะพึงในศตวรรษที่ 21 โดย 3อาร์ ประกอบด้วย
- Reading การอ่านออก,
- (W)Riting การเขียนได้ และ
- (A)Rithmetics การคิดเลขเป็น
ส่วน 8ซี ประกอบด้วย
1.Critical Thinking and Problem Solving คิดอย่างมีวิจารณญาณ และมีทักษะในการแก้ปัญหา
2.Creativity and Innovation มีทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม
3.Collaboration, Teamwork and Leadership ทักษะการทำงานเป็นทีม
4.Computing and ICT Literacy มีทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
5.Cross-cultural Understanding มีทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม
6.Communications, Information, and Media Literacy มีทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศและรู้เท่าทันสื่อ
7.Career and Learning Skills มีทักษะอาชีพและการเรียนรู้ และ
8.Compassion ความมีเมตตา วินัยคุณธรรม และจริยธรรม
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563