จากกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ข้อสอบโอเน็ต วิชาคณิตศาสตร์ ป.6 ยากและเกินมาตรฐานหลักสูตร ขณะที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกมาชี้แจงว่า กระบวนการออกหลักสูตร ได้มีการเชิญผู้สอน ผู้เชี่ยวชาญหลักสูตร และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สพฐ.) ตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่าข้อสอบไม่ได้เกินมาตรฐาน ทั้งยอมรับว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำซึ่งต้องเข้าไปช่วยพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ต่างๆต่อไปนั้น
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตนได้นำตัวอย่างข้อสอบที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ให้นิสิตคณะครุศาสตร์ทำ พบว่า คนที่ทำข้อสอบได้ใช้เวลา 6-10 นาที และส่วนใหญ่บอกว่ายาก อย่างไรก็ตาม ที่ สทศ.ระบุว่าข้อสอบไม่เกินมาตรฐานนั้น ก็เป็นคำชี้แจงที่ถูกต้อง เพราะทำตามมาตรฐานตัวบ่งชี้ แต่วิธีการแก้โจทย์ 3-4 ชั้น เป็นสิ่งที่เกินความสามารถของเด็ก ป.6 แน่นอน ซึ่งเด็กระดับนี้ไม่ควรแก้โจทย์เกิน 2 ชั้น และตามหลักการแล้วข้อสอบที่คนออกข้อสอบซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญใช้เวลาทำ 1 นาที สำหรับเด็กใช้เวลา 3 นาที ดังนั้นข้อสอบที่ระบุว่า ให้เด็กใช้เวลาแก้โจทย์ 3 นาที ในความเป็นจริงเด็กจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 9 นาที จึงเป็นไปไม่ได้ที่เด็ก ป.6 จะทำข้อสอบได้ภายใน 3 นาที นอกจากนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2551 ใช้มานาน แนวทางการออกข้อสอบก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สพฐ. และ สทศ. อาจไม่รู้ตัวว่าข้อสอบเกินมาตรฐาน ดังนั้นเนื้อหาต่างๆ ไม่ผิด ไม่เกินหลักสูตร แต่วิธีการออกข้อสอบพลาด
“เด็กในโรงเรียนในเมืองอาจทำได้ แต่เด็กในโรงเรียนชนบทห่างไกล ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนประถมทั่วประเทศ ทำข้อสอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนกับครูเอกคณิตศาสตร์โดยตรง ข้อสอบโอเน็ตก็คงไม่สามารถวัดอะไรได้ และยิ่งทำให้เด็กไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ รวมทั้งความห่างของความรู้ของเด็ก ซึ่งข้อสอบ PISA ประเมินคือ ร.ร.ในเมืองเด็กที่จบ ป.6 มีความรู้เท่าชั้น ป.6 แต่เด็กที่เรียนในที่ห่างไกล จบ ป.6 มีความรู้เท่าเด็ก ป.4 เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ต้องเร่ง แก้ไข โดย สทศ. และ สสวท. ควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศด้วย” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวและว่า ขอเรียกร้องให้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ลงมาดูแลแก้ไขเรื่องการวัดประเมินผลนักเรียนอย่างจริงจัง ตราบใดที่คะแนนโอเน็ตมีผลต่อการขอวิทยฐานะครู และการเลื่อนตำแหน่งของผู้บริหารสถานศึกษา เมื่อเด็กเรียนถึง ป.6 ก็ต้องมีการติวแบบเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อให้เด็กทำคะแนนโอเน็ตได้ดี.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยรัฐ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563