นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.)เปิดเผยว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารสมาคมและสมาชิกของสมาคมซึ่งเป็นคณะทำงานในเรื่องการจัดทำข้อมูลเหตุผลความจำเป็นและแนวทางการบริหารจัดการเรื่องการเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ได้เข้าพบนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อขอทราบความก้าวหน้าในเรื่องต่างๆที่สมาคมได้เรียกร้องเพื่อแก้ปัญการจัดการศึกษาดังนี้
1. การเพิ่มเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ครบทุกจังหวัด เนื่องจากขณะนี้ข้าราชการครู นักเรียนและประชาชนที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ต่างได้รับความเดือดร้อนมากในเรื่องการเดินทางไปติดต่อราชการที่สำนักงานเขตพื้นท่ีการศึกษา รวมถึงการเสียโอกาสในการได้รับการบริการทางการศึกษาเพราะหลายจังหวัดต้องเดินทางไกลข้ามภูเขา เช่นจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนต้องเดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ จากจังหวัดตากต้องเดินทางไปจังหวัดสุโขทัย ฯลฯ เป็นต้น
2. การขอให้ยกเลิกมติ ค.ร.ม.ในประเด็นเรื่องการตัดอัตรากำลังของข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการของโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และขอให้คืนอัตรากำลังดังกล่าวให้โรงเรียนโดยเร็วเพราะโรงเรียนที่ไม่มีครูหรือผู้บริหารโรงเรียนทำให้เด็กๆขาดโอกาสทางการศึกษาอย่างยิ่ง
3. การขอให้มีการปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุกดิจิตอลและยุค AI
4. การขอให้ปรับปรุงแนวทางการเลื่อนวิทยะฐานะที่เน้นสภาพจริงมากกว่าเอกสารและให้ทบทวนผลงานตามเกณฑ์ ว 13 ที่มีการพิจารณาตัดสินที่ไม่เป็นธรรมและควรหยิบยกเอาหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยะตามเกณฑ์ ว 17 มาใช้เพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้ครูเป็นนักวิจัยด้วย
5. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการใช้ข้อมูลเดียวกันในการประเมินและติดตามคุณภาพการศึกษาเช่นข้อมูลการพิจารณาความดีความชอบ ข้อมูลการขอเลื่อนวิทยะฐานะ ข้อมูลการประเมินต่างๆ ฯลฯ ซึ่งควรเป็นข้อมูลเดียวกันเพื่อคุณครูจะได้ไม่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้น
6. ขอให้มีการเร่งดำเนินการสอบบรรจุรองผู้อำนวยการโรงเรียนโดยเร็ว เพราะขณะนี้โรงเรียนเดือดร้อนมากเนื่องจากขาดแคลนรองผู้อำนวยการมากถึง 4000 กว่าอัตรา การพัฒนาคุณภาพจึงทำได้ไม่เต็มที่ แต่ละโรงเรียนต้องดึงเอาครูผู้สอนมาทำหน้าท่ีรองผู้อำนวยการจึงมีผลกระทบในเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาก
จากการที่ ส.บ.ม.ท. ได้เรียนพบกับผู้ใหญ่ระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิกา สพฐ และสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รับคำยืนยันว่า
1. กรณีการขอเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาเป็นเขตจังหวัด นั้น จะดำเนินการให้มีการเพิ่มเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดแน่นอนเพราะรับทราบถึงความเดือดร้อนเสียหายด้านการศึกษามัธยมศึกษาแต่บางเขตพื้นท่ีที่มีโรงเรียมัธยมศึกษาเพียง 5-6 โรงเรียน อาจมีรูปแบบที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ส.บ.ม.ท.ได้ยืนยันขอให้มีเขตพื้นท่ีการศึกษามัธยมศึกษาจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดเพราะเกิดความเดือดร้อนจริงๆ
2. กรณีเรื่องขอให้ยกเลิกมติ ค.ร.ม.ในประเด็นเรื่องการตัดอัตรากำลังของข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการของโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน และขอให้คืนอัตรากำลังดังกล่าวให้โรงเรียนโดยเร็ว นั้น ได้รับแจ้งว่ากระทรวงศึกษาธิการเห็นด้วยโดยจะประสาน ค.ร.ม. ให้มีการคืนอัตรากำลังที่เกิดจากการเกษียณอายุราชการให้กับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน เพื่อให้คุณภาพการศึกษาเป็นไปตามที่รัฐคาดหวัง
3. จะดำเนินการให้มีการปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเร็ว
4. เรื่องการขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบแนวทางการเลื่อนวิทยะฐานะโดยให้สอดคล้องกับสภาพจริงนั้นได้รับแจ้งว่าสำนักงาน ก.ค.ค.ศ. กำลังดำเนินการและจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ส่วนเรื่องการขอให้พิจารณาใหม่ในเรื่องการไม่ผ่านการพิจารณาผลงาน ว13 นั้น สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้แจ้งขอมีการยื่นพิจารณาทบทวนแล้ว
5 เรื่องข้อมูลผลงานบุคคลที่ใช้ในเรื่องต่างๆนั้น ต่อไปนี้จะใช้เป็นข้อมูลเดียวกันเพื่อลดภาระของคุณครูในเรื่องการจัดทำเอกสาร
นายรัชชัยย์ ฯเปิดเผยเพิ่มเติมว่าเรื่องดังกล่าวนี้ ส.บ.ม.ท.ได้ต่อสู้เรียกร้องมานานแล้ว ในที่สุดผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการต่างก็ออกมาแถลงข่าวที่เป็นไปในแนวทางเดียวกับที่ ส.บ.ม.ท.ร้องขอ จึงเห็นได้ว่ากระทรวงศึกษาธิการยุคที่มีนายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ ดร.อัมพร พินะสา เป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา เป็นยุคสมัยที่ผู้ใหญ่ใจกว้างรับฟังปัญหาของครูและนำไปสู่การแก้ไข นอกจากนี้นายรัชชัยย์ฯยังได้เปิดเผยอีกว่า เมื่อวันท่ี 6 กุมภาพันธ์ 2563 ในการประชุมอนุกรรมาธิการกฎหมายการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษานั้น ตนได้เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้างที่สำคัญคือขอให้มีกรมการประถมศึกษาและกรมการมัธยมศึกษา ใน สพฐ. เพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญการเฉพาะด้าน มีหน้าท่ีสนับสนุนการจัดการศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา และมัธยมมัธยมศึกษา โดยที่ประชุมอนุกรรมาธิการฯเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวอันจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขและเสนอให้ผู้มีอำนาจทราบและพิจารณา ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ( ส.บ.ม.ท.)