"ณัฏฐพล" ปลุกเขตพื้นที่หัดคิดนอกกรอบ
รมว.ศึกษาธิการ ถก ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ปลุกการทำงานเขตพื้นที่เชิงรุกและหัดคิดนอกกรอบ ชี้ ต้องก้าวทันเทคโนโลยี
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่โรงแรมปริ๊นพาเลซมหานาค กทม. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายว่า ตนมาดำรงตำแหน่งรมว.ศึกษาธิการมาได้ 6 เดือนแล้วรับทราบประเด็นต่างๆในศธ.จึงทำให้พบว่า การทำงานของศธ.ยังขาดการเชื่อมต่อในการบริหารงาน ซึ่งทุกหน่วยงานในศธ.มีความสามารถทุกเรื่อง ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงานตามนโยบายรัฐบาลให้ไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นตนเชื่อว่าเราจะต่อยอดปฎิรูปการศึกษาได้อย่างแน่นอน เพราะหากทุกคนยังคิดแบบต่างคนต่างทำงานอยู่เราจะไม่สามารถพาเด็กและเยาวชนไทยไปแข่งขันในเวทีโลกได้
โดยเมื่อเร็วๆนี้ตนได้เดินทางไปสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อไปศึกษาดูงานการศึกษาของประเทศจีนเรื่องปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ซึ่งขณะนี้ประเทศจีนนำระบบเอไอเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา ดังนั้นฝาก สพฐ.ผลักดันการนำระบบเอไอเข้ามาเติมเต็มในการจัดการเรียนการสอนให้มากขึ้น เพราะในเดือน พ.ค.นี้ศธ.จะเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงกระจายไปโรงเรียนทั่วประเทศได้เกือบ 95%
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ตนเชื่อมั่นว่า สพท.ทั่วประเทศมีความตั้งใจทำงานเต็ม 100% แต่ก็ยังมีความกังวลในนโยบายของตน ดังนั้นเรื่องใดที่มีความกังวลขอให้ทุกคนมาพูดคุยกับตนได้ ซึ่งขอให้มั่นใจได้ว่าแม้นโยบายเรื่องใดที่มีการดำเนินการไปแล้วตนจะต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเมื่อได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายแล้วก็ขอให้เขตพื้นที่ยอมรับตามกติกาแบบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องใดที่ยังไม่มีข้อยุติที่ชัดเจนตนจะไม่มีการตั้งธงไปในทิศทางใดทั้งนั้น
ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาหนี้ครูกำลังจะได้แนวทางที่ชัดเจนภายในเดือน ก.พ.นี้ แต่หนี้ครูก็ยังไม่สำคัญเท่าการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพราะภาคเรียนที่ 1/2563 จะนำร่องใช้หลักสูตรใหม่ก่อนใช้จริงทั่วประเทศในปีการศึกษา 2565
รวมถึงอีก 3 ปีข้างหน้าจะต้องลดการจ้างสอนครูต่างชาติให้ได้ เนื่องจากศธ.และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตั้งคณะทำงานในการผลิตครูแล้ว ซึ่งตนหวังว่าเราจะได้นักศึกษาครูที่จบครูมีทักษะภาษาอังกฤษมาสอนเด็กทดแทนครูต่างชาติ ขณะเดียวกันในอนาคตการจัดทำคำของบประมาณปี 2564 และ 2565 ตนตั้งใจจะให้เกิดโครงการคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา (Lap Top) ให้แก่นักเรียนด้วย แต่การดำเนินโครงนี้จะต้องหาคอมพิวเตอร์ในราคาที่ถูกและเหมาะสมกับคุณภาพ รวมถึงจะต้องดำเนินการให้โปร่งใสและตรวจสอบได้
‘การทำงานจากนี้ไปขอให้เขตพื้นที่ทุกเขตทำงานเชิงรุก กล้าคิดกล้าทำ และคิดนอกกรอบให้มากขึ้นพร้อมกับเสนอแผนการศึกษาร่วมกันกับผมในการทำงาน เนื่องจากสพท.จะต้องรู้ข้อมูลการศึกษาในพื้นที่ได้ดีกว่าผม โดยทุกวันนี้เรื่องร้องเรียนต่างๆมีเข้ามาถึงผมจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอให้เขตพื้นที่ได้มีหน่วยงานตรวจสอบเรื่องร้องเรียนตรงนี้ หรือจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดกรองเรื่องร้องเรียนให้มากขึ้น’ นายณัฏฐพล กล่าว
ทั้งนี้ข้อเสนอต่างๆของเขตพื้นที่ตนจะนำมาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาต่อไป โดยเรื่องเร่งด่วนก็คือโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีครูอยู่เลยตนจะเร่งบรรจุครูให้ครบ เพื่อไม่ให้กระทบกับคุณภาพของนักเรียน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 29 มกราคม 2563