นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ว่า ขณะนี้คณะทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครูกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมข้อมูล เพื่อวางแนวทางแก้ปัญหานี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตนยอมรับ ว่า ขณะนี้เราพบว่าข้าราชการครูเป็นหนี้จำนวนเยอะมาก ดังนั้น ศธ.กำลังพยายามช่วยเหลือและวางแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ โดยเบื้องต้นคณะทำงานได้วิเคราะห์ข้อมูลหนี้ครูส่วนใหญ่เกิดจากแหล่งนี้ที่มาจากหนี้บัตรเครดิต หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู หนี้ที่ผูกพันกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หนี้นอกระบบ ดังนั้นตนคิดว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงินเข้ามาช่วยวางแผนและแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างตรงจุด เพื่อช่วยหาวิธีการลดหนี้ให้กับครูว่าจะสามารถดำเนินการได้อย่างไร ซึ่งเมื่อ ศธ.แก้ไขปัญหาลดภาระหนี้ครูให้แล้ว ตนหวังว่าครูจะไม่สร้างภาระหนี้ก้อนใหม่ขึ้นมาอีก โดยครูจะต้องมีจิตสำนึกและวินัยทางการเงินที่ดีด้วย
นายณัฏฐพล กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ครูนั้น เรื่องนี้ตนต้องขอดูความเหมาะสมก่อนว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน สำหรับแหล่งเงินที่ปล่อยกู้ให้ครูได้เป็นจำนวนหลักล้านบาทนั้น เรื่องนี้ตนมองว่า หากเรามีมาตรการชัดเจนที่ป้องกันไม่ให้ครูได้กู้เงินเกินตัว เช่น การกู้เงินต้องเกินจำนวน 5 เท่าของเงินเดือนในบัญชี เป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้ตนคิดว่าน่าจะเป็นข้อมูลหนึ่งที่อยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือผู้บริหารโรงเรียนได้มีการตรวจสอบข้อมูลการกู้ของครูไม่ให้กู้เงินตัวด้วยความไม่จำเป็น โดยตนอยากให้ทุกคนที่เป็นผู้บริหารได้ตระหนักถึงปัญหาการบริหารงานบุคคลด้วยไม่ใช่มุ่งการบริหารวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว
“สำหรับประเด็นที่ศาลปกครองกลาง พิพากษาเรื่องการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการครู เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ว่า เงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้วต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 นั้น ผมคิดว่าเราต้องทำตามคำสั่งศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ผมได้วางกรอบระยะเวลาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้”รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563