เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้ก่อนหน้านี้ โดยที่ประชุมได้นำประเด็นหลักทั้ง 7 เรื่อง ในแผนปฏิรูปดังกล่าวมาวางเพื่อเป็นหลักในการทำงาน
ประกอบด้วย
1.การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ โดยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่และกฎหมายรอง
2.การปฏิรูปการพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน
3.การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
4.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง การพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์
5.การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ ที่ 21
6.การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา
7.การปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปดังกล่าวอยู่แล้ว เพียงแต่ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการขอความร่วมมือจากกรรมการสภาการศึกษา ให้ตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานทั้ง 7 ด้าน ตามความถนัดของแต่ละบุคคล และระดมความคิดจากประชาชน นักวิชาการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ ซึ่งเมื่อดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว ศธ.ก็จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้จัดเวทีแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
"การระดมความคิดเพิ่มเติมตรงนี้จะนำมาผสมผสานกับแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาฯที่ทำอยู่ให้มีความเห็นที่หลากหลายมากขึ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการวางเป้าหมายในการปฏิรูป และหลายเรื่อง ศธ.ดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องการให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละภาคส่วน รวมถึงเจ้าที่ของรัฐ ประชาชน ได้เปิดวงแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมจากแนวทางเดิมๆ ที่ ศธ.เคยกำหนดไว้" รมว.ศธ.กล่าว
นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเรื่องการแก้กฏกระทรวง เพื่อรองรับเรื่องหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา เนื่องจาก ศธ.หวังเน้นว่าอาชีวศึกษาจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และและขณะนี้ ศธ.กำลังจะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะในสัดส่วน 50 : 50 กับสายสามัญ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) พยายามผลักดันให้เด็กและเยาวชนสนใจมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น ขณะนี้ทุกภาคส่วน และเขตพื้นที่ฯก็เข้าใจนโยบายนี้แล้ว เหลือเพียงการนำไปปฏิบัติ ซึ่งตนคาดหวังว่าจะเกิดผลภายในเดือนพฤษภาคมนี้
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ปกครองยังมีความไม่เข้าใจ หรือผูกพันธ์กับการเรียนสายสามัญ แต่ตนเชื่อว่าในช่วงนี้หากสอศ.แสดงให้เห็นถึงแนวทางและผลดีของการเรียนสายอาชีพ อาจจะทำให้ผู้ปกครองเห็นถึงความสำคัญของการเรียนอาชีวะและประโยชน์ที่ผู้เข้าเรียนจะได้เข้าสู่การทำงานเพื่อเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563