เลขาธิการ กพฐ.เข้าแจง กมธ.การศึกษา ปมปรับโครงสร้างศธ. คาดสรุปทิศทางการปรับโครงสร้างทั้งหมด 24 ม.ค.นี้ เชื่อ วินๆ ทั้งสองฝ่าย
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตน ไปชี้แจงเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฏร โดยเฉพาะประเด็นไม่ยุบ ไม่โอน ไม่ย้ายหน่วยศึกษานิเทศก์ หน่วยตรวจสอบภายในและ และ กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ(ไอซีที) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ไปสังกัดศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)
ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัด ศธ. ว่า นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ. ฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจให้แก่กลุ่มบุคลากรของ สพท.แล้วว่า จะไม่มีการยุบ หรือ ตัดโอนตำแหน่งไปอยู่กับ ศธจ. อย่างที่เป็นกังวล แต่การปรับโครงสร้าง ศธ.จะต้องนำไปสู่การลดการปฎิบัติงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งตนเชื่อว่าบุคลากรเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิต่าง ๆ ในตำแหน่งเดิม เพียงแต่จะต้องร่วมกันทำงานมากขึ้น
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปรับโครงสร้างของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะนำเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการปรับโครงสร้าง ศธ.ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ โดย สพฐ.ได้เสนอการปรับโครงสร้างออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ให้มี อ.ก.ค.ศ.จังหวัด 2. อ.ก.ค.ศ.สพฐ. และ3.ขอคืนอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53(3)และ(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ผมคิดว่าการปรับโครงสร้าง ศธ. น่าจะวิน ๆ ทุกฝ่าย คือ ใครมีหน้าที่ส่วนไหนก็ทำไป ไม่ว่าจะเป็นกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) หรือ สพท. โดยมีเป้าหมายเพื่อการบูรณการทำงานร่วมกัน ส่วนการแต่งตั้งหรือการโยกย้ายข้าราชการครู ก็ควรให้หน่วยต้นสังกัดผู้ใช้ครูได้ดำเนินการเอง มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา เช่น การประท้วงของนักเรียนที่ไม่อยากได้ ผอ.โรงเรียนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ ซึ่ง สพฐ.ก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหาได้ เพราะเป็นหน้าที่ของ กศจ.เป็นต้น”ดร.อำนาจ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 22 มกราคม 2563