"กฤษณพงศ์"แนะครูปรับตัวให้ทันลูกศิษย์ยุคเจเนอเรชั่นแซด
นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 สิ่งครูทุกคนต้องเข้าใจตรงกัน คือ ความหลากหลายของเจเนอเรชั่นลูกศิษย์ ดังนั้นครูต้องรู้จักลูกศิษย์แบบใหม่ เพราะเด็กในแต่ละเจเนอเรชั่นจะไม่เหมือนกัน หากเราไม่เข้าใจลูกศิษย์เราก็คงสอนเด็กไม่ได้ และหากครูยังไม่เข้าใจและไม่พยายามปรับตัวในเรื่องนี้การศึกษาไทยก็จะล้มเหลวเป็นรอบที่ 2 อีกเป็นแน่ เพราะครูก็คงเป็นคนผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว อีกทั้งทุกวันนี้เด็กรุ่นใหม่โตมากับการมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ กับสมาร์ทโฟน หาความรู้ได้จากสิ่งเหล่านี้ โดยไม่จำเป็นต้องฟังครู ดังนั้นเมื่อครูเข้าใจเด็ก และรู้วิธีการเรียนรู้ของเด็กครูก็จะสอนได้ตรงกับความสนใจของเขา ครูจะมีบทบาทในเรื่องของการสอนให้เด็กรู้จักการใช้สื่ออย่างฉลาด เพราะเวลานี้เด็กใช้สื่อสมัยใหม่ เด็กจะได้แต่สาระ แต่ไม่ฉลาดรู้สาระที่มากับเทคโนโลยี เพราะบางเรื่องบางสาระก็เชื่อไม่ได้ ไม่รู้ว่าสาระไหนจริงปลอม ดังนั้นครูในยุคปัจจุบันจึงต้องมีบทบาทหน้าที่คอยเป็นตะแกรงเพื่อร่อนสาระต่างๆ ที่มากับสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ว่าอันไหนคือสาระแท้ อันไหนสาระเทียมที่เด็กควรจะได้เรียนรู้
นายกฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อสังคมมีการพัฒนาขึ้น ย่อมมีปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น ปัญหาเด็กที่โตมากับครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ปัญหาเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยเงินจากพ่อแม่เพียงอย่างเดียวเพราะเอาแต่ทำงานไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก หรือแม้แต่เด็กที่ไม่มีแม้แต่พ่อและแม่ โตมากับปู่ ย่า ตา ยาย เลี้ยงมา ซึ่งเด็กในกลุ่มนี้บางส่วนเกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ซึ่งครูจะต้องตื่นตัวเพื่อเรียนรู้ และเข้าใจกับปัญหา เหล่านี้มากขึ้น เพราะครูจะไม่ได้เป็นแค่ผู้สอนสาระความรู้อย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน แต่ครูต้องสอนสาระของความเป็นคน หรือทักษะมนุษย์ให้เด็กด้วย ครูจึงต้องเข้าใจทักษะมนุษย์ อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาใหม่ ๆ ที่มากับยุคสมัยใหม่ที่ครูจะต้องเรียนรู้แล้ว แน่นอนว่าปัญหาเก่า ๆ ที่ยังคงอยู่ เช่น จำนวนครูในบางโรงเรียนที่มากเกินไปจะแก้ปัญหาอย่างไรให้เหมาะสม หรือครูผู้สอนได้สอนในวิชาที่ไม่ได้จบมา เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขกันต่อไป ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา
"ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนไปขนาดไหนก็ตาม ครูก็อยู่ต่อไป เพียงแต่ครูต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงการสื่อสารไปยังเด็กให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ครูจะเปลี่ยนบทบาท ครูจะทำหน้าที่คอยแนะนำให้เด็กไปหาสื่อ ไปอ่านจากสื่อที่เป็นสาระแท้ จากนั้นค่อยนำมาพูดคุยหาเหตุและผลกัน ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์มากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ครูจะใช้วิธีดาว์โหลดสาระความรู้ใส่ลูกศิษย์ผ่านทางกระดานดำ ผ่านไวน์บอร์ด ผ่านเพาเวอร์พอยท์ และส่งไฟต์งานให้เด็กอ่าน แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว เด็กประถมศึกษาสามารถค้นหาความรู้ได้เองผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนโดยไม่ต้องรอครูแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คุณครูต้องปรับตัวเพื่อรู้เท่าทันเด็กให้ได้"ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563