เมื่อวันที่13ม.ค.2563 ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ว่า ที่ผ่านมามีการประชุมวางแผนการดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนและเสนอความต้องการด้านบุคลากรและสถานศึกษา ทั้งเรื่องของการตรวจสอบข้อมูลพื้นฐาน ระบบสารสนเทศ และความต้องการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การวางแผนและเสนอขอรับการสนับสนุน พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ตลอดจนชุมชนและท้องถิ่น เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเรื่อง น้ำบาดาล น้ำดื่มสะอาดสำหรับสถานศึกษา สนับสนุนการปลูกต้นไม้และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในโรงเรียนและชุมชน การจัดการขยะภายในโรงเรียน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สนับสนุน Platform Internet ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กระทรวงสาธารณสุขจะสนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาบุคลากร สถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้านสุขภาพและโภชนาการของนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือผู้มีความต้องการพิเศษ ตลอดจนสนับสนุนให้โรงเรียนเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านสุขภาพขององค์กร และการจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เอื้อต่อการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพของนักเรียน เพื่อให้มีพฤติกรรมสุขภาพเหมาะสม เป็นต้น
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีความเห็นว่า จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ที่มีนายอำเภอเป็นประธาน ซึ่งแต่ละคณะจะมีผู้แทนของทุกกระทรวงร่วมเป็นกรรม โดย สพฐ.มีความมุ่งหวังถึงความสำเร็จในอนาคตของโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล คือ เป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีความเข้มแข็งด้านวิชาการ มีความสามารถด้านภาษา และดิจิทัล มีสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดนตรี กีฬา ศิลปะ และจิตสาธารณะตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความพร้อมทางด้านกายภาพสิ่งอำนวยความสะดวก วัสดุครุภัณฑ์ สะอาดร่มรื่น ปลอดภัย เป็นโรงเรียนที่เน้นการพัฒนาพื้นฐานด้านอาชีพ และการเป็น “โรงเรียนของชุมชน” ที่มีความร่วมมือกับท้องถิ่น การให้บริการโรงเรียนเครือข่ายและชุมชนอย่างเข้มแข็งที่แท้จริง เพื่อเป็นการสร้างนักเรียน ให้มีความเข้มแข็งทั้งทางวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม และเติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไปจนถึงทางเศรษฐกิจของสังคมและประเทศต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 13 มกราคม 2563
ขอบคุณพันธมิตรข่าวการศึกษา www.focusnews.in.th