นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมหารือกรอบแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ จะเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล ที่เน้นสมรรถนะ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถนำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและคุณลักษณะต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน และการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งการปรับหลักสูตรดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ ผู้เรียนให้เหมาะสมกับแต่ละระดับ หรือแต่ละช่วงวัย ทั้งนี้เท่าที่ดูรายละเอียดของการปรับหลักสูตรใหม่มีความน่าสนใจและทำได้ดี แต่สุดท้ายแล้วจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้านอีกครั้ง
"ในภาพรวมของการจัดการศึกษา ผมมองว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องหนึ่งที่เราจะต้องมีการปรับแก้ไขให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบัน โดยจุดประสงค์หลักของการปรับหลักสูตรก็เพื่อ ต้องการให้เด็กค้นพบตัวเองตามความถนัดของแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กระดับประถมศึกษาตอนต้น อาจจะเน้นการเรียนการสอนที่เป็นหลักสูตรการพัฒนาตนเอง ส่วนระดับประถมศึกษาตอนปลายจะเน้นหนักในเรื่องวิชาวิทยาศาสตร์ หรือ คณิตศาสตร์ เป็นต้น" รมว.ศธ.กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวอีกว่า โดยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแบบใหม่ที่เป็นหลักสูตรสมรรถนะจะนำสู่ปฏิบัติและใช้จริงในปีการศึกษา 2565 แต่เบื้องต้น ศธ.จะเริ่มนำร่องการใช้หลักสูตรใหม่ใน 6 จังหวัดก่อน ได้แก่ จังหวัดระยอง ศรีสะเกษ สตูล เชียงใหม่ กาญจนบุรี และปัตตานี ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรม การศึกษา พ.ศ.2562 ก่อน อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่หลายฝ่าย รวมถึงตนยังเป็นห่วงก็คือ ครูจะปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตรใหม่นี้หรือไม่ โดยประเด็นนี้ ศธ.จะประสานสถาบันผลิตครูในการเผยแพร่ข้อมูลเนื้อหาของหลักสูตรใหม่ เพื่อเป็นการเตรียมและพัฒนาครูในอนาคต รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาก็จะต้องทำความเข้าใจแนวทางของหลักสูตรใหม่นี้ด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563