นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ รมว.ศธ. ได้ประกาศจะเดินหน้าให้เด็กไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ภายใน ๓ ปีเนื่องจากเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในโลกศตวรรษที่ ๒๑ และเป็นการพัฒนาประเทศในอนาคต นั้น บรรดาครูและผู้บริหารโรงเรียนต่างชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ รมว.ศธ. ดำเนินนโยบายนี้ให้เป็นผลสำเร็จ โดย ส.บ.ม.ท. เห็นว่าการที่ รมว.ศธ มีแนวคิดเช่นนี้เป็นการเดินมาอย่างถูกทางในเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาเพราะแนวคิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษานั้นต้องทำให้สถานศึกษา ครู นักเรียน เข้มแข็ง งบประมาณส่วนใหญ่จึงต้องทุ่มเทเพื่อการพัฒนาสถานศึกษา พัฒนาครู พัฒนานักเรียน ไม่ควรนำงบประมาณไปกำหนดโครงสร้าง กำหนดอัตรากำลังบุคคลากรนอกสถานศึกษาขึ้นใหม่ที่ไม่จำเป็น การตัดโอนอัตรากำลังครูไปเป็นอัตรากำลังบุคคลากรอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการเรียนการสอนจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าทำเป็นอย่างยิ่งเพราะในภาพรวมแล้วโรงเรียนหลายพันโรงเรียนยังมีครูสอนไม่ครบชั้น หากมีการทำเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นมิติร้ายทางการจัดการศึกษา
นอกจากนี้นายรัชชัยย์ฯยังเปิดเผยอีกว่าตามที่มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นว่าโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการในอนาคตนั้นควรให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูทั้งประเทศ และจะมีการมอบหมายให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานงานการจัดการศึกษาระดับจังหวัด ซึ่งต้องมีการกระจายอำนาจและมอบอำนาจด้านการบริหารงานบุคคลและงบประมาณให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการซึ่งการของบประมาณในการจัดการศึกษาต้องเป็นภาพรวมของจังหวัดในทุกสังกัดในทุกระดับ นั้น เห็นว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้เพราะ
๑. การเพิ่มหน่วยงานขึ้นอีกเป็นการสิ้นเปลืองเป็นการเพิ่มขั้นตอนในการปฏิบัติส่งผลกระทบต่อโรงเรียน ควรนำงบประมาณที่จะใช้ในการเพิ่มหน่วยงานไปสนับสนุนการพัฒนาสถานศึกษา ครู และนักเรียน ให้มากที่สุด
๒. การมีแนวคิดเช่นนี้เป็นเหมือนการกระจายอำนาจแต่แท้ที่จริงแล้วเป็นการรวบอำนาจโดยการดึงอำนาจจากส่วนกลางมาสู่อำนาจของตน
๓. ควรพิจารณาว่าการบริหารจัดการราชการของกระทรวงอื่นในส่วนภูมิภาคนั้นมีกระทรวงใดให้อำนาจตัวแทนของปลัดกระทรวงนั้นๆมาบริหารจัดการในระดับภูมิภาคหรือไม่
๔. การดำเนินการตามแนวคิดดังกล่าวต้องเพิ่มคน เพิ่มงบประมาณ เพิ่มสถานที่ หรือไม่ ขัดต่อแนวคิดของ คปร.หรือไม่และเด็กนักเรียนได้อะไร การอ้างว่าไม่เพิ่มคนแต่ใช้วิธีการเอาอัตรากำลังครูที่ควรจะจัดสรรให้โรงเรียนไปเป็นอัตราบุคคลากรของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด การอ้างว่าไม่เพิ่มงบประมาณแต่ใช้วิธีการตัดงบประมาณจากส่วนราชการที่มีสถานศึกษาในสังกัดไปเป็นงบประมาณของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้เพราะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนและนักเรียนโดยตรง
๕. การที่จะให้งานด้านการนิเทศการศึกษา การตรวจสอบภายใน ฯลฯ ไปเป็นภาระงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนั้น คงต้องพิจารณาว่าสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดหรือสำนักงานปลัดกระทรวงมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในการที่จะทำภารกิจดังกล่าวหรือไม่ บรรดาศึกษานิเทศก์และบรรดาเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในนั้นมีความพึงพอใจในการย้ายสังกัดหรือไม่
๖. แนวคิดต่างๆดังกล่าวในเรื่องของการให้ศึกษาธิการจังหวัดเป็นตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานงานการจัดการศึกษาระดับจังหวัด นั้นผ่านการวิเคราะห์วิจัย การประชาพิจารณ์ และมีการตกผลึกในเรื่องความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียนแล้วหรือไม่
๗. แนวคิดเช่นนี้เป็นแนวคิดที่ให้ข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการซึ่งถือว่าเป็นกรมๆหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือข้าราชการสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาฯลฯซึ่งล้วนแต่เป็นข้าราชการต่างกรมกันจะทำให้เกิดความแตกแยก ไม่ได้รับการยอมรับ และไม่เป็นสากลตามธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติเพราะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้ในกระทรวงอื่นและจะไม่เกิดผลดีต่อการจัดการศึกษาเลย
๘. การที่กรรมาธิการการศึกษาของวุฒิสภามีความเห็นว่าไม่สมควรยกเลิกคำสั่ง คสช ที่ ๑๙ นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลใดที่สนับสนุนการคงอยู่ของคำสั่งดังกล่าวหรือเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวมีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาอย่างไร
๙. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๗๖ บัญญัติว่า “รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่นและงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี...” และมาตรา ๓๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่มีการยุบเลิก โอน หรือรวมส่วนราชการใดทั้งหมดหรือบางส่วน ห้ามมิให้จัดตั้งส่วนราชการที่มีภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับส่วนราชการดังกล่าวขึ้นอีก เว้นแต่มีการเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และมีเหตุผลจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และโดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.ร.” จากข้อกฎหมายดังกล่าวเห็นว่าสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดเป็นตำแหน่งที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ดังนั้นการที่จะให้มีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและให้มีศึกษาธิการจังหวัดขึ้นอีกจึงเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ และขัดต่อมาตรา ๓๔ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.๒๕๔๖ ทั้งนี้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดและศึกษาธิการจังหวัด ที่เกิดขึ้นโดยคำสั่ง คสช ฉบับที่ ๑๙ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ขัดกับกฎหมายแต่มีผลบังคับใช้เพราะในขณะนั้นรัฏฐาธิปัตย์เป็นของคณะปฏิวัติ แต่เมื่อขณะนี้มีรัฐธรรมนูญใช้แล้วและคณะปฏิวัติก็สิ้นสภาพแล้ว ดังนั้นคำสั่งของคณะปฏิวัติฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อกฎหมายที่มีการบังคับใช้ในปัจจุบันจึงจะต้องดำเนินการให้มีการยกเลิกและปรับให้เข้ากับบริบทของกฎหมายของรัฐประชาธิปไตย
“กล่าวโดยสรุปเห็นว่าการดึงดันที่จะให้คำสั่ง คสช ที่ ๑๙ ยังคงอยู่และให้หน่วยงานที่มีบ่อเกิดมาจากคณะปฏิวัติยังคงอยู่ทั้งๆที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ นั้น นอกจากจะขาดไร้ซึ่งเหตุผลที่ทำให้การศึกษาดีขึ้นแล้ว การดึงดันดังกล่าวยังสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐบาลปัจจุบัน เพราะหากพรรคการเมืองฝ่ายค้านหยิบยกเอาปัญหาข้อกฎหมายนี้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่ารัฐบาลทำผิดกฎหมาย ก็อาจทำให้รัฐบาลล้มได้” นายรัชชัยย์ ฯกล่าวในที่สุด
ข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)