เมื่อวันที่ 6 ม.ค.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.)เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ไปสำรวจจำนวนโรงเรียนขยายโอกาส ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่าแต่ละแห่งมีนักเรียนจำนวนเท่าไร เพราะที่ผ่านมาจากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ต่าง ๆ พบว่า มีโรงเรียนขยายโอกาสบางแห่งมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวนน้อยมาก บางแห่งรวมกันทั้ง 3 ชั้นมีนักเรียน 10 คนก็มี ดังนั้น สพฐ.จะต้องหามาตรการให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้รับการเรียนการสอนที่ทั่วถึงและมีคุณภาพ ซึ่งส่วนตัวมีความกังวลว่า หากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนครูไม่เพียงพอ เด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ แต่ทั้งนี้ก็ต้องไปดูบริบทในพื้นที่ด้วย
“ผมไม่ได้บอกให้ยุบโรงเรียนขยายโอกาส แต่อยากทำให้โรงเรียนขยายโอกาสเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ หากจำเป็นต้องปรับปรุงโรงเรียน ต้องทำให้เด็กได้รับการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สพฐ.ต้องไปสำรวจโรงเรียนขยายโอกาสที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ ม.1-3 น้อย ก็ให้ใช้วิธีการบริหารจัดการ โดยให้ไปเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง อาจบริหารจัดการรถรับส่ง ส่วนโรงเรียนเดิมก็ให้เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เหมือนเดิม เพื่อให้การจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ก็ให้เริ่มดำเนินการภายในเดือนพฤษภาคม 2563 ทันที ทั้งนี้ ทั้งนั้น สพฐ. ก็ต้องหารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ในพื้นที่ เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน” นายณัฏฐพล กล่าวและว่า การดำเนินการเรื่องนี้มีองค์ประกอบหลายส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งขนาดของโรงเรียน นักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสที่มีจำนวนน้อย และโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงไม่เกิน 6-10 กิโลเมตร ต้องผสมผสานกันหลายส่วน ตนมั่นใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้นักเรียนได้รับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น การดำเนินการในส่วนนี้ ไม่ได้ตั้งเป้าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็กแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เห็นอยู่ โดยเฉพาะจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสที่ลดลงทุกปี
ด้าน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า จากนี้ สพฐ.จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูข้อมูลเชิงปริมาณก่อน คือ
1.เรื่องของโรงเรียนขยายโอกาสว่ามีจำนวนเด็กตั้งแต่ม.1-3 จำนวนเท่าไร เพื่อมาวางแผนส่งต่อนักเรียนไปเรียนในโรงเรียนมัธยมใกล้เคียง
2.เรื่องของคุณภาพที่จะส่งนักเรียนไปเรียนต่อ ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมประตำบลที่มีระยะทาง6-10กิโลเมตร ที่เดินทางสะดวก แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)หารือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)ด้วย โดยเราจะยึดคุณภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ และ
3.เรื่องความเป็นอยู่ของเด็กและอาหารด้วยว่าจะต้องดูแลเรื่องนี้อย่างไร
ซึ่งสพฐ.จะต้องไปวางแผนทั้งระบบ ทั้งโรงเรียนที่จะให้ไปเรียนและโรงเรียนที่จะรองรับเด็กกลุ่มนี้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามสพฐ.ยังมีโรงเรียนศึกษาพิเศษ และโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ที่มีหอพักเด็กรองรับอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและชุมชนด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 6 มกราคม 2562
>>> แอดมินฝากติดตาม FOCUSNEWS ด้วยนะครับ<<<