เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อมนุษย์
เสียง(Sound) มีอิทธิพลต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ สมอง ประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรมของสังคม วิถีชีวิต จากทฤษฎีของเสียงที่พิสูจน์ได้ว่าเสียงมีอำนาจ มีอำนาจอยู่ที่ไหน ก็จะมีเสียงอยู่ที่นั่น มีเสียงอยู่ที่ไหนอำนาจก็จะอยู่ที่นั่นด้วย ดังนั้น พิธีกรรมของมนุษย์ทุก ๆ พิธีกรรมจึงประกอบด้วยเสียง (ดนตรี) ตั้งแต่เสียงสวดมนต์ภาวนาเสียงตีเกราะเคาะไม้ เสียงดีดสีตีเป่า แม้แต่เสียงจุดประทัด ในเทศกาลตรุษจีน หรือจุดประทัดของชาวเรือประมง ที่จะออกทะเลเพื่อหาปลา เสียงปืนใหญ่ยิงเพื่อยกย่องในงานศพของวีรบุรุษ เสียงกลองยาว แตรวงงานบวช
ซึ่งล้วนเป็นเสียงแสดงถึงอำนาจและเป็นหุ้นส่วนของพิธีกรรมทั้งสิ้น
จากทฤษฎีของเสียงมีอำนาจ อำนาจของเสียงสร้างเป็นพลังงานที่เปลี่ยนจากเสียงสร้างให้เกิดความเคลื่อนไหว ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงทำให้เกิดการพัฒนา เมื่อมีการพัฒนามาก ๆ
ก็จะสร้างให้เกิดความเจริญ ยิ่งพัฒนามากก็ยิ่งเจริญมากขึ้นด้วยทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์ต้องการความเจริญ ความเจริญเป็นความหวังเป็นความปรารถนาของชีวิต และความเจริญเป็นความมีชีวิตชีวา
เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อร่างกาย เมื่อร่างกายสัมผัสต่อเสียงดนตรี จังหวะดนตรีมีอิทธิพลทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวขยับตามจังหวะ เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจ ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นปัจจุบัน ทำให้นึกถึงอดีต และทำให้นึกถึงอนาคต ดนตรีทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปตามมิติของของกาล อาจจะเป็นอารมณ์ที่หวนรำลึกถึงอดีต อาจจะเป็นการสร้างอารมณ์ปัจจุบันและอาจจะสร้างให้เกิดจินตนาการได้
เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อจิตใจ “เสียงใส ใจสะอาด” เป็นอิทธิพลที่เกี่ยวกับเสียงโดยตรง เนื่องจากเสียงออกมาจากจิตใจ เมื่อใจรู้สึกเป็นอย่างไรก็จะถ่ายทอดเป็นเสียงออกมาเป็นอย่างนั้น ในขณะเดียวกันเสียงที่ออกมาจากจิตใจ ความสุขและความทุกข์ ได้อาศัยเสียงระบายออกมาภายนอกซึ่งทำให้จิตใจผ่อนคลายลงได้ โดยธรรมชาติ ดนตรีจึงเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและจิตใจ
เสียงดนตรีทำให้สมองรับรู้ เส้นประสาทสมองขยายตัวเมื่อสัมผัสกับเสียงดนตรีที่ดี ทำให้สมองตื่นตัวกับเสียง
ที่ได้ยิน เสียงดนตรีบ่งบอกประวัติศาสตร์ บ่งบอกความเป็นมา บ่งบอกประเพณี บ่งบอกวัฒนธรรมของสังคมและบ่งบอกวิถีชีวิตของคนในแต่ละสังคมนั้น ๆ
เสียงดนตรี(Music) เป็นเสียงที่ไพเราะเป็นเสียงที่ละเอียดสร้างขึ้นด้วยความตั้งใจด้วยการประดิษฐ์เสียงอย่างประณีตและบรรจง มนุษย์สร้างเสียงขึ้นเพื่อให้มนุษย์ด้วยกันฟัง มนุษย์เป็นผู้สร้างมาตรฐานของความไพเราะ โดยอาศัยความรู้สึกที่ดีเอาเสียงที่ไพเราะงดงาม นำแต่ละเสียงมาเรียงร้อยให้ปะติดปะต่อกันจนกลายเป็นบทเพลงที่ไพเราะ ดนตรีเป็นศิลปะที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้ตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งดนตรีอาจจะรับใช้ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบของพิธีกรรม หรือดนตรีอยู่ในฐานะของความบันเทิง
เสียงหยาบ(Noise) เป็นเสียงรบกวนและเป็นเสียงที่มนุษย์ไม่ปรารถนา การแยกแยะระหว่างเสียงที่ชอบและเสียงที่ไม่ชอบ ขึ้นอยู่กับอำนาจว่ามีสิทธิ์ที่จะชอบหรือมีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบเพราะความชอบและความไม่ชอบขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและรสนิยม อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเสียงที่หยาบ (ดัง แรง กระด้าง ) แต่เสียงก็เป็นจุดศูนย์รวมของอำนาจด้วยเหมือนกัน
มนุษย์จะเลือกเสียงที่อบอุ่นละมุนละไมเลือกเสียงที่กังวานเลือกเสียงที่ไพเราะ เลือกเสียงที่ชอบมากกว่าที่จะเลือกเสียงกระด้าง ดังนั้นเสียงที่ไพเราะหรือจะเรียกว่าเสียงดนตรี จึงมีอำนาจมากกว่าเสียงรบกวน
บรรณานุกรม
สุกรี เจริญสุข. ดนตรีเพื่อพัฒนาศักยภาพของสมอง.วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พุทธมณฑล ศาลายา นครปฐม พ.ศ.2550 : 62-63