"ลุงตู่" ห่วงปัญหาเด็กไทยอ่านวิเคราะห์ไม่เป็น
เลขาธิการกพฐ. เผย นายกฯห่วงปัญหาการอ่านเด็กไทย ฝาก สพฐ.กระตุ้นเด็กให้อ่านแบบคิดวิเคราะห์มากขึ้น
วันนี้ (23 ธ.ค.) ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการประชุมชี้แจงการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีความเป็นห่วงถึงผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD รอบการประเมิน PISA 2018 แม้ว่าประเทศไทยจะมีคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่สูงขึ้น แต่คะแนนในเรื่องการอ่านกลับลดลง ดังนั้นฝากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ปรับมาตรฐานการอ่านของนักเรียนที่ไม่ใช่เป็นการอ่าน ออก เขียนได้เพียงอย่างเดียว แต่อยากให้การอ่านมุ่งไปสู่การคิดวิเคราะห์ของเด็กไทยด้วย เช่น เมื่อเด็กเขียนเรียงความในเรียงความนี้ที่เขียนขึ้นมีความหมายว่าอย่างไรและนำไปสู่อะไรบ้าง เป็นต้น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้นายกรัฐมนตรีอยากให้ปรับกิจกรรมในชั่วโมงนี้ใหม่ โดยไม่เน้นการเรียนกิจกรรมดนตรี หรือทำอาชีพอย่างเดียว แต่อยากให้มีการจัดทำชมรมจิตอาสา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ที่นำไปสู่การคิดวิเคราะห์ของเด็กมากขึ้นด้วย ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงเรื่องการอ่านของเด็กไทยที่นิยมอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดนั้น ซึ่งในประเด็นนี้ตนมองว่าเป็นงานวิจัยที่พูดถึงกันมานานแล้ว และต้องชี้แจงว่าการอ่านในลักษณะนั้นของเด็กคงไม่ใช่ทั้งหมด โดยขณะนี้นโยบายเรื่องการอ่านของ สพฐ.ต้องแบ่งการแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ เช่น กลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการเรียนรู้ภาษาถิ่นมากกว่าภาษาไทยก็ต้องจัดนวัตกรรมการอ่านในรูปแบบทวิภาษา ส่วนโรงเรียนในกลุ่มภาคเหนืออยากเรียนรู้ภาษาไทยแต่ประสบปัญหาความหลากหลายทางชาติพันธุ์ รวมถึงในกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ดังนั้นตนจึงมอบโจทย์ไปยังเขตพื้นที่ว่าต้องการยกระดับการอ่านให้ดีขึ้น แต่ให้อิสระในการเลือกใช้นวัตกรรมการอ่านให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562