กมว.ย้ำหลังปี 63 หลักสูตรป.บัณฑิตสูญพันธุ์
ประธานกมว. ย้ำ หลังปีการศึกษา 2563 หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสูญพันธุ์
วันนี้ (24 ธ.ค.) รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คุรุสภา เปิดเผยว่า ในการประชุม กมว. เมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับหลักสูตรพัฒนาความเป็นครูสำหรับผู้ที่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แต่ต้องการเป็นครู ซึ่งจะนำมาใช้แทนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (ป.บัณฑิต) ที่เปิดสอนปีการศึกษา 2562 เป็นปีสุดท้าย แต่ทั้งนี้ยังมีสถานบันการศึกษาบางแห่งที่ได้รับการรับรองจากคุรุสภาให้เปิดสอนป.บัณฑิตเป็นเวลา 5 ปี ที่ประชุมจึงมีมติให้สถาบันเหล่านั้นยังคงได้รับสิทธิเปิดสอน ป.บัณฑิต ต่อไปจนกว่าผลการรับรองจะครบกำหนด แต่หลังจากปี 2563 แล้วก็จะไม่มีสถาบันใดเปิดสอนป.บัณฑิตอีก แต่จะใช้หลักสูตรพัฒนาความเป็นครูมาทดแทน และเมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรพัฒนาความเป็นครูแล้ว ก็จะให้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เท่านั้นที่มีสิทธิสอนหลักสูตรนี้
รศ.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังมีข้อเสนอให้สถาบันที่ต้องใช้ครูจำนวนมากๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) , สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทำความตกลงกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อจัดหลักสูตรความเป็นครูเฉพาะกลุ่ม และให้หน่วยงานนั้นๆนำบุคลากรที่ต้องการให้เป็นครูมาเรียน เพื่อตัดปัญหาเรื่องการขาดคุณสมบัติความเป็นครู ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ทบทวนหลักเกณฑ์การบรรจุครู กศน.และ ครูอาชีวศึกษา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากระเบียบกศน.นั้น ครู กศน.ไม่ต้องมีใบอนุญาตฯ แต่หากจะบรรจุเป็นข้าราชการครู หลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.ระบุว่า ต้องมีใบอนุญาตฯ ดังนั้นหากมีความจำเป็นที่ครู กศน.ต้องมีใบอนุญาตฯ ก็ให้ กศน.ทำความตกลงกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จัดหลักสูตรพัฒนาความเป็นครูให้กับครูกศน. ซึ่งเรื่องนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ ก.ค.ศ.ที่ได้เข้าประชุมด้วยก็รับที่จะนำไปพิจารณา
"ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจะแบ่งการสอบเป็น 5 กลุ่มวิชา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ความฉลาดรู้เรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล วิชาเอก และ วิชาครู โดยไม่ต้องสอบให้ผ่านทั้ง 5 กลุ่มใน 1 ครั้ง แต่สามารถสอบทีละกลุ่มได้ และเก็บคะแนนไว้ได้ 3 ปี แต่หากครบ 3 ปี แล้วยังผ่านได้ไม่ครบ 5 กลุ่ม ก็ต้องเริ่มต้นสอบใหม่ ส่วนค่าใช้จ่ายในการสอบนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ผู้เข้าสอบน่าจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย แต่จะให้เสียน้อยที่สุด" ประธานกมว. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2562
เลิก‘ป.บัณฑิต’!กมว.ใช้‘หลักสูตรพัฒนาความเป็นครู’แทน รองรับคนไม่จบครุฯแต่ฝันเป็นครู
กมว.เตรียมใช้เหลักสูตรพัฒนาความเป็นครู แทนหลักสูตร “ป.บัณฑิต” เพื่อรองรับผู้ที่ไม่จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แต่ต้องการเป็นครู พร้อมให้ นศ.ครูที่เคยสอบ 5 กลุ่มวิชาภายใน 1 ครั้ง ให้สอบได้ทีละกลุ่มวิชา ภายใน 3 ปี ป้องกันเครียด
22 ธันวาคม 2562 รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ(กมว.) คุรุสภา เปิดเผยภายหลังการประชุม กมว. ว่า ที่ประชุมหารือเกี่ยวกับหลักสูตรพัฒนาความเป็นครู ซึ่งจะนำมาแทนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต(ป.บัณฑิต) เพื่อพัฒนาผู้ที่ไม่ได้จบคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แต่มีความต้องการเป็นครู โดยหลักสูตร ป.บัณฑิต จะเปิดสอนปีการศึกษา 2562 เป็นปีสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาคุรุสภาได้ให้การรับรองสถาบันการศึกษาเปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต ได้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าการรับรองดังกล่าวยังมีผลสำหรับสถาบันการศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่ประชุมจึงมีมติให้สถาบันการศึกษานั้นได้รับสิทธิเปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต จนกว่าผลการรับรองจะหมดเขต เพื่อไม่ให้สถาบันการศึกษานั้นๆเสียสิทธิ แต่หลังจากปี 2563 แล้ว จะไม่มีสถาบันการศึกษาใดที่เปิดสอนหลักสูตร ป.บัณฑิต อีก โดยจะให้ใช้หลักสูตรพัฒนาความเป็นครูมาทดแทน
รศ.เอกชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงเวลา 1 ปีนี้ สถาบันการศึกษาที่ยังมีผลการรับรองหลักสูตร ป.บัณฑิต จะเปิดสอนต่อไปก็เป็นสิทธิของสถาบันนั้น ส่วนผู้เรียนก็คงต้องพิจารณาเลือกเรียนเองว่าจะเรียนในสถาบันที่สอนหลักสูตร ป.บัณฑิต หรือเรียนในสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรพัฒนาความเป็นครู และเมื่อมีการประกาศใช้หลักสูตรพัฒนาความเป็นครูแล้ว ก็จะให้สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เท่านั้นที่มีสิทธิสอนหลักสูตรนี้
“ที่ประชุมมีข้อเสนอให้สถาบันที่ต้องใช้ครูจำนวนมากๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) , สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ทำความตกลงกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เพื่อจัดหลักสูตรความเป็นครูเฉพาะกลุ่ม และให้หน่วยงานนั้นนำบุคลากรที่ต้องการให้เป็นครูมาเรียน เพื่อตัดปัญหาเรื่องการขาดคุณสมบัติความเป็นครู ซึ่งที่ประชุม กมว.ได้ขอให้ คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ทบทวนหลักเกณฑ์การบรรจุครู กศน.และ ครูอาชีวศึกษา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” รศ.เอกชัย กล่าว
รศ.เอกชัย ระบุว่า ทั้งนี้เนื่องจากระเบียบ กศน.นั้น ครู กศน.ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู แต่หากบรรจุเป็นข้าราชการครู เกณฑ์ของ ก.ค.ศ.ระบุว่าต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องให้ครู กศน.ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ก็ให้ กศน.ทำความตกลงกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จัดหลักสูตรพัฒนาความเป็นครูให้กับครู กศน. ซึ่งเรื่องนี้ นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ ก.ค.ศ.ที่ได้เข้าประชุม กมว.ด้วยก็รับที่จะนำไปพิจารณา
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งจะแบ่งการสอบเป็นกลุ่มวิชา 5 กลุ่ม ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ความฉลาดรู้เรื่องเทคโนโลยีและดิจิทัล วิชาเอก และวิชาครู โดยนิสิตนักศึกษาครูสามารถสอบเก็บคะแนนเป็นกลุ่มวิชา โดยไม่ต้องสอบให้ผ่านทั้ง 5 กลุ่มภายใน 1 ครั้ง แต่สามารถสอบทีละกลุ่มวิชา จะได้ไม่เครียด และสามารถเก็บคะแนนได้เป็นเวลา 3 ปี แต่หากครบ 3 ปี แล้วยังผ่านหรือได้ไม่ครบ 5 กลุ่ม ก็ต้องเริ่มต้นสอบใหม่ทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายในการสอบนั้น ในที่ประชุม กมว.เห็นว่า ผู้เข้าสอบน่าจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย แต่จะให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า วันอาทิตย์ ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2562