โลกยุคใหม่ คือโลกของเทคโนโลยีและสารสนเทศ การก้าวทันเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นสิ่งจำเป็นการดำรงชีวิต และการก้าวทันโลก มนุษย์ในปัจจุบัน หากไม่นับรวมถึงประเทศที่ยังไม่พัฒนา ประเทศที่ปิดตัวเองจากโลกภายนอก ล้วนแล้วแต่จะต้องได้รับข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศอยู่เป็นประจำ เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสารสนเทศในทุกวันนี้ก็มีอยู่หลายๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตนั้นนับว่ามาแรงมากๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพราะ บริการต่างๆ ที่มีอยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้น นับวันจะเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง ดูรายการโทรทัศน์ ชำระค่าบริการ สารพัดบริการที่นำมาให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ในปัจจุบัน จบแทบจะไม่ต้องคาดเดาได้เลยว่าต่อไปจะทำอะไรก็อยู่แค่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้นก็สามารถจัดการชีวิตได้เกือบทุกเรื่อง
ด้วยความทันสมัยนี้เอง ทำให้วงการการศึกษามีการตื่นตัวกันมากที่จะนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาใช้ในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นระบบอีเลิร์นนิ่ง ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนส์ หรือระบบมัลติมีเดียออนไลน์ เป็นต้น ที่ผมเน้นคำว่า "ระบบ" ก็เพราะไม่อยากให้เราหลงทางนั่นเอง รัฐบาลชุดใหม่ ท่านรัฐมนตรีว่าการการทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ที่มีแนวทางจะสานต่อโครงการแจกคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนนั้น ผมยอมรับว่าเป็นโครงการที่ดีมาก (จริงๆ) เพราะเป็นการวางรากฐานด้านสาธารณูปโภค เช่นเดียวกับการลงทุนติดตั้งระบบไฟฟ้าและแจกเสาไฟฟ้าให้ทั่วประเทศ เป็นแค่การเริ่มต้น แต่อยากให้ท่านมองให้เป็นระบบ เพราะไม่เช่นนั้น จะเกิดเหตุการณ์ที่ว่าแจก "ขยะ" เทคโนโลยีให้กับโรงเรียน ซึ่งแทนที่จะเป็นเรื่องดี กลับกลายเป็น "ภาระ" ซึ่งหลายๆ โรงเรียนที่ได้รับจัดสรรไปเป็นเช่นนั้นจริง คอมพิวเตอร์ที่ได้รับมา เหมือนโดน "ยัดเยียด" ให้รับ แต่ก็ต้องจำใจรับ เพราะเป็น "ของฟรี" ซึ่งโรงเรียนคงไม่มีปัญญาไปจัดหามาเองได้ นั่นแหละปัญหาว่าทำไม สิ่งที่ท่านจัดสรรไป จึงจะกลายเป็น ขยะ อย่างที่บอก ย้อนไปดูสาเหตุกันก่อนดีไหมครับ เท่าที่ผมสัมผัสมานั้น คอมพิวเตอร์ที่ได้รับจัดสรร ส่วนใหญ่ จะเป็นชุดเดียวกันเกือบทั้งเขต บริษัทเดียวกันเกือบทั้งเขต ราคาเท่ากันเกือบทั้งเขต แต่สภาพการใช้งานและความจำเป็นในการใช้งาน ไม่เท่ากันสักโรง ว่ากันง่ายๆ ตั้งแต่สภาพห้องที่จะนำคอมพิวเตอร์ไปวาง ก็ปวดหัวแล้วครับ คอมพิวเตอร์เลิศหรูเพียงไร สักวันก็คงจะเกิดอาการวงจรเสื่อมได้แน่ๆ ที่สำคัญรัฐเองก็ไม่ได้จัดสรรครูคอมพิวเตอร์ หรือมีแนวทางที่ชัดเจนในการที่จะพัฒนาครูให้สามารถใช้ ดูแลรักษาหรือซ่อมบำรุงอุปกรณ์เหล่านี้ได้ด้วยตนเอง มีก็เพียงการเรียกไปอบรมไม่กี่ครั้งหลังจากได้รับจัดสรร ซึ่งถือว่าน้อยไป เมื่อคอมพิวเตอร์เหล่านั้นเสีย หรือพัง ครูไม่มีความรู้ ก็ไม่กล้าซ่อมเอง จะยกไปร้านบางทีก็ต้องเดินทางไกล(ค่าน้ำมันแพงกว่าค่าซ่อมแซม) บางทีก็ไม่มีงบประมาณ จึงจำเป็นต้องทิ้งไว้ให้กลายเป็น "ขยะ" ในที่สุด
ท่านรัฐมนตรีครับ อยากให้ท่านพัฒนาเรื่องนี้ให้เป็นระบบ มีการจัดสรรคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนแล้ว น่าจะจัดสรรคนเข้าไปดูแลในเรื่องนี้ด้วย หรือไม่ก็ช่วยพัฒนาครูให้มีทักษะในด้านนี้ให้มากๆ จะช่วยท่านให้ดำเนินนโยบายที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจากที่จะมองมุมของรูปธรรมเพียงแค่ในมุมจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ท่านควรจะจัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงและค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นด้วย ก่อนที่คอมพิวเตอร์จะกลายเป็น "ขยะที่ราคาแพงที่สุดในโลก"