ปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. มี 3 ทางเลือก มอบการบ้านหาข้อดี-เสีย หารืออีกครั้งต้นเดือน ม.ค. 63
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังการการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. ว่า ที่ประชุมได้มีการรายงานข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง ศธ. ซึ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์แล้ว สามารถสรุปออกมาได้จำนวน 3 แนวทาง ที่การทำงานสอดคล้องกันทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยที่ประชุมได้มีหารือแลกความคิดเห็น และมีการมอบการบ้านให้แต่ละหน่วยงานไปคิดถึงข้อดีและข้อเสียของทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ทั้งนี้จะนำมาหารือร่วมกันอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2563 ทั้งนี้ตนคาดว่าเราจะสามารถเห็นรูปร่างของโครงสร้าง ศธ.ได้ในช่วงต้นปีหน้า
ขอบคุณที่มาเนื้อหาและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 11 ธันวาคม 2562
'วราวิช'ย้ำปรับโครงสร้างสร้างศธ.ยังไม่สรุป คาดต้นม.ค.63ชัดเจนขึ้น
เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ว่า จากการหารือวันนี้ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องโครงสร้าง ศธ.ออกมาชัดเจน แต่ตนได้เน้นย้ำให้แต่ละหน่วยงานที่นำเสนอวิธีการปรับโครงสร้างที่ได้ไปวางแผนมาจากการประชุมครั้งที่แล้ว ซึ่งจากการรับฟังแนวทางการปรับโครงสร้างที่แต่ละหน่วยงานเสนอมานั้น ไม่แตกต่างกันมากนัก ถือเป็นแนวทางที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งตนไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ และหลังจากที่ทุกฝ่ายเสนอแนวทางมาแล้วตนก็ได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานกลับไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย ของแนวทางการปรับโครงสร้างที่วางไว้อีกครั้งหนึ่งแล้วให้นำมาเสนอที่ประชุมอีกครั้งในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มกราคม 2563 คาดว่าจะสรุปรูปแบบโครงสร้าง ศธ.ได้ภายในต้นปี 2563 นี้
เบื้องต้นรูปแบบโครงสร้าง ศธ.จะไม่มีการยุบหน่วยงานใด แต่จะดูบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะขณะนี้ยังมีบางหน่วยงานมีหน้าที่ ความรับผิดชอบยังไม่มีความชัดเจนมากนัก อย่างเช่น การทำงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ที่การทำงานอาจแจะทับซ้อนกันจะทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมหารือถึงการศึกษาเอกชนเช่นกัน แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา และในการประชุมครั้งนี้ ตนได้แบ่งโจทย์พร้อมกับรวบข้อเสนอ และวิธีการปรับโครงสร้างที่เหมือนกันเข้าไว้ด้วยกัน ลเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการหารือครั้งต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ที่ประชุมหารือเรื่องของสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ สกศ.เสนอปรับไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) อาจจะเป็นปัญหาในการกำกับดูแล จึงจะขออยู่ภายใต้ ศธ.เช่มเดิมนั้น นายวราวิช กล่าวว่า ที่ประชุมยังไม่ได้หารือในประเด็นนี้ ขณะนี้ตนเพียงรับฟังแนวทางการปรับโครงสร้างของแต่ละหน่วยงาน จากที่มอบการบ้านไปในการประชุมครั้งที่ผ่านมาและวันนี้ก็ให้นำผลกลับไปวิเคราะข้อดีข้อเสียก่อนที่จะมาหารือกันอีกครั้งช่วงต้นเดือน ม.ค.63
"คาดว่าต้นเดือน มกราคม จะได้ต้นแบบและวิธีการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ที่ชัดเจนขึ้น อาจจะช้าตามกำหนดที่อยากให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่ก็กินระบะเวลาไปนิดเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผมได้เน้นย้ำในที่ประชุมว่าการปรับโครงสร้างนั้นเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายๆ เรื่องที่ ศธ.ต้องทำ เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่ว่าปรับโครงสร้าง ศธ.แล้วจะทำให้เด็กเก่งขึ้น แต่เราปรับเพื่อให้การทำงานคล่องตัว เพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน แต่ละคนต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเองให้ชัดเจน นั้นคือสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ทั้งนี้ ศธ.ยังมีงานที่ต้องทำอีกมาก เช่น พัฒนาครู พัฒนาผู้อำนวยการสถาศึกษา เป็นต้น และหลักการของการปรับโครงสร้าง ศธ.ครั้งนี้ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องเน้นพัฒนาการศึกษาเป็นหลัก" นายวราวิช กล่าว
ขอบคุณทีมาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิมเติมได้จาก แนวหน้า 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562