ณ ห้องประชุมชั้น 21 อาคารสุขประพฤติ - นายประเสริฐ บุญเรือง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมให้ข้อมูลการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค ต่อคณะทำงานพิจารณาศึกษา และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ว่า ศธ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงการตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ตามคำสั่ง ศธ. ที่ สป995/2562 โดยมีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ ทบทวนบทบาทภารกิจและการจัดโครงสร้าง ศธ. ซึ่งจะที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 11 ธันวาคมนี้
ทั้งนี้นอกจากการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. จะเน้นดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาแล้ว ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนการปฏิบัติงานของหน่วยงาน มีการปฏิบัติงานในลักษณะสอดประสานและบูรณาการ โดยให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) เป็นตัวแทนกระทรวงศึกษาธิการในระดับพื้นที่ และเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานงานการจัดการศึกษาในระดับจังหวัด จำเป็นต้องบริหารจัดการการศึกษาร่วมกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ ต้องมีการกระจายอำนาจ และมอบอำนาจด้านการบริหารงานบุคคล และงบประมาณให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการของบประมาณในการจัดการศึกษาต้องเป็นภาพรวมของจังหวัดในทุกสังกัดและทุกระดับ การดำเนินงานการจัดการศึกษาในภูมิภาค ไม่ได้มีแนวทางในการยุบเลิกส่วนราชการใดที่ไม่จำเป็น แต่จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ภารกิจของแต่ละหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานระหว่าง ศธจ.และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) รวมทั้งหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้อง
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นของคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา มีความเห็นว่า การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. ไม่ควรดำเนินการให้กระทบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. โดยให้พิจารณาถึงกลไกการบริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับจังหวัด ทั้งนี้ อาจใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประกอบกับคณะรัฐมนตรี สำหรับการขับเคลื่อนการดำเนินงานการปรับปรุงโครงสร้างศธ. ตามคำสั่งดังกล่าว คือ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้ตามความจำเป็น ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 6 คน ซึ่ง รมว.ศธ.แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการขับเคลื่อนโดยอย่างน้อยต้องมีผู้แทนองค์กรภาคเอกชน 1 ผู้แทนองค์กรวิชาชีพและผู้แทนภาคประชาชนด้านละ 1 คน และในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค
“ทั้งนี้ในส่วนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงาน ก.ค.ศ. ควรปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัว และลดขั้นตอนปฏิบัติงาน
สำหรับส่วนราชการส่วนกลาง ศธ. ควรกำหนดให้มีกรมวิชาการ ที่เป็นหน่วยงานดำเนินการเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอน ตามที่เคยมีเช่นเดิม พร้อมทั้งเน้นทักษะผู้เรียนด้านพหุปัญญา (กีฬา ดนตรี และศิลปศึกษา) โดยหลังจากการชี้แจงเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ในครั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำข้อมูลดังกล่าวนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ได้พิจารณาต่อไป” ปลัด ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2562