วันที่ 2 ธันวาคม 2562 นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR” ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กับ บริษัท โมบาย โซลูชั่นส์ อินทิเกรเตอร์ จำกัด โดยมีผู้อำนวยการสำนักต่างๆ ของ สพฐ. และผู้แทนทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ
ภาพประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สพฐ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับบริษัท โมบาย โซลูชั่นส์ อินทิเกรเตอร์ จำกัด (Mobile Solutions Integrator : MSI) ในการจัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนในสังกัด สพฐ. ให้มีความสามารถทางภาษาตามกรอบมาตรฐาน CEFR จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนสู่สากล ตามกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษา (CEFR) โดยบริษัท โมบาย โซลูชั่นส์ อินทิเกรเตอร์ จำกัด ได้สนับสนุนสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนและครู จำนวน 3,400,000 บาท โดยสื่อที่ใช้ในโครงการ คือ English Discoveries ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยองค์กรเดียวกับแบบทดสอบ TOEFL และ TOEIC มีชื่อเสียงในการใช้งานทั้งระบบ Online และ Offline ของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชนในประเทศไทยมานานกว่า 19 ปี
อีกโครงการหนึ่งก็คือ การส่งเสริมการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษของครูตามกรอบมาตรฐาน CEFR โดยบริษัทฯ ได้สนับสนุนสื่อการเรียนการสอนภาษาอังกฤษสำหรับครูผู้สอนทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 1,470,000 บาท โดยสื่อที่ใช้ในโครงการ คือ SPEEXX ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ภาษาอังกฤษที่สร้างขึ้นจากประเทศเยอรมนี มีชื่อเสียงในการใช้งานทั้งระบบ Online และ Offline ของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชนในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน และเป็นสื่อที่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนาเพื่อใช้เป็นสื่อในหลักสูตรพัฒนาครู “โครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร” ของหน่วยพัฒนาครู บริษัท โมบาย โซลูชั่นส์ อินทิเกรเตอร์ จำกัด อีกด้วย
ทั้งนี้ กรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษา (CEFR : The Common European Framework of Reference for Languages) เป็นกรอบความคิดหลักในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทย ทั้งในการออกแบบหลักสูตร การพัฒนาการเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผล การพัฒนาครู รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ และปรับจุดเน้นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เป็นไปตามธรรมชาติของการเรียนรู้ที่เน้นการสื่อสารเป็นสำคัญ คาดว่าการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูและนักเรียนตามกรอบมาตรฐาน CEFR ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล
อัฉรา ข่าว
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน