นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯกพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตามที่ สพฐ.มีนโยบายเรื่องการพัฒนาภาษาอังกฤษทั้งระบบนั้น ขณะนี้สถาบันภาษาอังกฤษอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข ระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษในโรงเรียน สังกัด สพฐ. ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อที่จะให้โรงเรียนประจำอำเภอที่สนใจนำไปเปิดห้องเรียนภาษาอังกฤษในปีการศึกษา 2563 อย่างไรก็ตาม สพฐ.มีความคาดหวังที่จะให้นักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในระดับ B2 ตามกรอบอ้างอิงร่วมสหภาพยุโรป (Common European Framework Reference on Language : CEFR)
ทั้งนี้ สพฐ.ยังได้พบข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ สพฐ.มีเด็กที่ระดับภาษาอังกฤษอยู่ที่ B2 แต่การสื่อสารกับชาวต่างชาติยังไม่ดีพอ ดังนั้น เราจะต้องมาเน้นย้ำในเรื่องการสื่อสารให้มากขึ้น ขณะที่ในส่วนของครูผู้สอนจะให้ใช้ครูชาวต่าวชาติเป็นหลัก ซึ่งขั้นตอนการสรรหาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โรงเรียนสามารถเปิดรับสมัครครูผู้สอนชาวต่างชาติได้เองโดยใช้หลักเกณฑ์คัดเลือกของสพฐ.เป็นเกณฑ์ และ ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะมีการขอความร่วมมือกับสถานฑูตเพื่อขอให้มีการจัดสรรครูผู้สอนที่มีคุณภาพมาให้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถหาครูผู้สอนที่มีคุณภาพและทันเวลาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นการแย่งนักเรียนจากโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง เพราะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งการดำเนินการเรื่องนี้จะเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาและสร้างความเสมภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 2 ธันวาคม 2562