ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ. ครั้งที่ 11/2562 )
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 11/2562 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ว่าที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาที่สำคัญ ดังนี้
อนุมัติการกำหนดกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. จำนวน 15 แห่ง ในระยะเวลาเริ่มแรกรวมทั้งสิ้น 341 อัตรา ประกอบด้วย
- - ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 15 อัตรา
- - รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 15 อัตรา
- - ตำแหน่งครู 180 อัตรา
- - ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) 131 อัตรา
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารจัดการในการจัดการเรียนการสอนของศูนย์วิทยาศาสตร์ทั้ง 15 แห่ง เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนและนักศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ สามารถสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษา
อนุมัติการจัดสรรอัตราว่าง จากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และการจัดสรรแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการ ด้วยการจ้างรูปแบบอื่น (พนักงานราชการ) เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ครั้งที่ 2) จำนวน 738 อัตรา ให้กับ
- - สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 647 อัตรา
- - สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 7 อัตรา
- - สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ 74 อัตรา
- - สำนักงาน กศน. 10 อัตรา
โดยให้ส่วนราชการดำเนินการเกลี่ยอัตรกำลังที่ได้รับอนุมัติไปกำหนดตำแหน่งในหน่วยงานการศึกษาตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- ให้กำหนดจำนวนและประเภทตำแหน่งตามเงื่อนไขที่ คปร. กำหนด โดยเคร่งครัด
- ตำแหน่งที่กำหนดจะต้องมีจำนวนและประเภทตำแหน่งตามที่ ก.ค.ศ. อนุมัติ
- ให้กำหนดตำแหน่งในหน่วยงานการศึกษาที่มีอัตรกำลังไม่เกินกรอบอัตรากำลัง หรือเกณฑ์มาตรฐานอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนด
- ในการใช้อัตราที่ได้รับการจัดสรรคืนอัตรากำลังว่างจากผลการเกษียณอายุราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ใช้อัตรากำลังได้ไม่ก่อนวันที่ ก.ค.ศ. มีมติอนุมติ
พร้อมกันนี้ได้เห็นชอบ ให้สงวนอัตราตำแหน่งว่างจากการเกษียณฯของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) (ประเภทวิชาการและทั่วไป) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 1 อัตรา ไว้ก่อน เพื่อเสนอขอทบทวนไปยัง คปร.
และเห็นชอบ ให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เสนอเหตุผล ความจำเป็น เพื่อทบทวนหลักเกณฑ์การจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อ 2.11 ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ตามที่ คปร. กำหนดในส่วนของตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการ ให้จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการฯ คืนส่วนราชการเดิมทั้งหมดต่อ คปร. ต่อไปด้วย
อนุมัติการแต่งตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5 ราย
1. นางลักขณา ตัณฑวุฑโฒ ตำแหน่งศึกษาธิการภาค สำนักงานศึกษาธิการภาค ๒ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
2. นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการ กศน.
3. นายอรรถพล ตรึกตรอง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
4. นางสาวอุษณีย์ ธโนศวรรย์ เลขาธิการ ก.ค.ศ.
5. นายทวีศักดิ์ เที่ยงธรรม ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดนครราชสีมา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัดชำนาญการพิเศษ
ซึ่งการแต่งตั้งอนุกรรมการใน อ.ก.ค.ศ. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในครั้งนี้เป็นการแต่งตั้งแทนผู้ดำรงตำแหน่งเดิมเพื่อความเหมาะสม และเพื่อทดแทนผู้ดำรงตำแหน่งเดิมที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว
เห็นชอบหลักการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สงวนอัตราตำแหน่งว่างและอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งนักเรียนทุนโครงการทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
(ม.ท.ศ.) ซึ่งเป็นนักเรียนทุนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม และได้ผ่านการฝึกและการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่จบการศึกษาแล้ว เข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย โดยมุ่งเน้นในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ และสาขาที่ขาดแคลน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด ในระยะเริ่มแรก จำนวน 5 อัตราต่อปี หรือตามจำนวนที่คณะกรรมการ ม.ท.ศ.
มีมติ เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
เห็นชอบกำหนดกรอบอัตรากำลังคณาจารย์ในสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อเนื่อง) และสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ (ต่อเนื่อง) จำนวน 10 อัตรา
เพื่อรองรับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการในสาขาวิชาดังกล่าว เพื่อให้สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 4 สามารถจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการได้อย่างมีคุณภาพ เกิดประสิทธิผล นักศึกษามีความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสาขาวิชาเฉพาะทาง เพื่อรองรับความต้องการของสถานประกอบการ ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมและระบบ
โลจิสติกส์ในเขตพื้นที่แนวระเบียงเศรษฐกิจฝั่งตะวันตก (WEC) ต่อไป
อนุมัติให้กำหนดตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
โดยการตัดโอนอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ว่างอยู่ กำหนดเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย ในสถานศึกษา รวมจำนวน 1,843 อัตรา สังกัดสำนักงาน กศน. (1,023 อัตรา) และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (820 อัตรา) โดยมีเงื่อนไขในการใช้ตำแหน่งเพื่อการบรรจุและแต่งตั้ง คือ ให้ได้รับเงินเดือนอันดับครูผู้ช่วย ตามวุฒิที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยอาศัยเบิกในอัตราเงินเดือนที่กำหนด และอัตราเงินเดือนที่กำหนดนี้ เมื่อนำไปใช้บรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วยแล้ว อัตราเงินเดือนที่เหลืออยู่ไม่สามารถนำไปใช้เป็นอัตราเงินเดือนสำหรับตำแหน่งว่าง ไม่มีเงินหรือนำไปกำหนดเป็นตำแหน่งเพิ่มใหม่ได้ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นำเรื่องการตัดโอนอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปกำหนดเป็นตำแหน่งครูผู้ช่วย ในสถานศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค พิจารณาอนุมัติต่อไป
อนุมัติการกำหนดตำแหน่ง กรอบอัตรากำลัง มาตรฐานตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาด้วยหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในลักษณะโรงเรียนประจำ เพื่อเป็นการเตรียมกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ให้มีประสิทธิภาพ เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. อนุมัติให้กำหนดตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป นักวิเคราะห์นโยบายและแผน นักทรัพยากรบุคคล นักวิชาการศึกษา นักวิชาการเงินและบัญชี นักวิชาการพัสดุ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักวิเทศสัมพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีสารสนเทศ นักโภชนาการ พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ และนายช่างเทคนิค เป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย
2. อนุมัติให้กำหนดมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) เพิ่มเติม จำนวน 7 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งนักเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิเทศสัมพันธ์ นักโภชนาการ นักจิตวิทยา นักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ นักวิชาการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายช่างเทคนิค
3. อนุมัติกรอบอัตรากำลังตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จำนวน 12 แห่ง ๆ ละ 36 อัตรา รวม 432 อัตรา โดยในระยะแรกเห็นควรกำหนดระดับตำแหน่งเป็น 2 ระดับทุกตำแหน่ง คือ ระดับปฏิบัติการ/ชำนาญการ สำหรับตำแหน่งประเภทวิชาการ และระดับปฏิบัติงาน/ชำนาญงาน สำหรับตำแหน่งประเภททั่วไป และเมื่อภาระงานและปริมาณงานของตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งมีผู้มีคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งได้ สพฐ. อาจขออนุมัติ ก.ค.ศ. พิจารณาปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งต่อไปได้ ทั้งนี้ การกำหนดตำแหน่งดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้งบประมาณที่ได้รับและไม่ทำให้งบประมาณรายจ่ายด้านบุคคลเพิ่มสูงขึ้น
4. อนุมัติให้กำหนดแนวทางการกำหนดเลขที่ตำแหน่งฯ โดยกำหนดพยัญชนะสองตัวแรกเป็นรหัสพยัญชนะ “วภ” หมายถึง โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย และกำหนดเลขที่ตำแหน่ง จำนวน 4 หลัก ต่อจากรหัสพยัญชนะโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตัวเลขหลักที่ ๑ และ ๒ (นับจากซ้าย) แทนรหัสจังหวัด และตัวเลขหลักที่ 3 และ 4 แทนเลขที่
เห็นชอบ ให้ยกเว้นคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ (ว 8 /2562) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ยกเว้นให้ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ไม่ต้องผ่านการพัฒนาก่อนเข้าสู่การคัดเลือก แต่มีเงื่อนไขให้เพิ่มระยะเวลาในการพัฒนาก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง โดยเนื้อหาของหลักสูตรต้องมีการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษและทักษะทางเทคโนโลยีดิจิทัลด้วย
2. ให้เพิ่มระยะเวลาในการประเมินสัมฤทธิผลในการปฏิบัติงานในหน้าที่เพื่อพัฒนาการศึกษา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ที่ ก.ค.ศ. กำหนด จากระยะเวลา 6 เดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี และกำหนดให้มีการประเมิน 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน โดยให้ทุกส่วนราชการทราบและถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพในการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา และนำนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงศึกษาธิการไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธาริณี นาคเมธี : ภาพ/ข่าว
ศรายุทธ มาทัพ หัวหน้ากลุ่มประชาสัมพันธ์และการเผยแพร่ : Editor
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.