“ครูตั้น” พบสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และสถาบันผลิตครู เตรียมเดินหน้าผลิตครูคุณภาพ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ที่อาคารหอประชุมคุรุสภา สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย วิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้จัดประชุมเพื่อรับมอบแนวทางพร้อมรับฟังนโยบายด้านการผลิตและพัฒนาครู จากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยมี ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสภาคณบดีฯ พร้อมด้วยคณบดีจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆเข้าร่วมรับฟังจำนวน 64 คน
ดร.ดิเรก พรสีมา ประธานสภาคณบดีฯ กล่าวรายงาน ว่า ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูการศึกษาขั้นพื้นฐาน และครูอาชีวศึกษา รวม 113 สถาบัน และในปรการศึกษา 2562 จะมีบัณฑิตครูที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 55,783 คน แบ่งเป็น หลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต(ค.บ.) 5 ปี จำนวน 47,173 คน และ หลักสูตรประกาศนียบัติอบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 8,610 คน ปัจจุบันมีจำนวนบัณฑิตที่คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้รวมจำนวน 1,270,383 คน แต่ในขณะที่มีหน่วยงานใช่ครูจริงๆ หรือที่เป็นครูประจำการปี 2562 ประมาณ 660,609 คน ในปี 2562 จะมีครูเกษียณอายุราชการ จำนวน 28,246 คน อย่างไรก็ตาม หากคิดในแง่ปริมาณประเทศไทยไม่ได้ขาดครู แต่ที่ขาดคือคุณภาพของครู และคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งถ้าคิดสัดสวนครูต่อนักเรียนของไทย อยู่ที่ 1:18 คน ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น 1:23 ประเทศสิงค์โปร์ 1:25 เกาหลีใต้ 1:28
นายดิเรก กล่าวด้วยว่า จะต้องเร่งพัฒนาการผลิตครูที่มีคุณภาพ และผลิตครูให้ได้ในปริมาณที่ตรงกับความต้องการ จึงอยากให้มีสถาบันพัฒนาความเป็นเลิศให้แก่ครู เพื่อให้ครูมีสมรรถนะสูงในการพัฒนาผู้เรียน สามารถสร้างผู้เรียนให้มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและสามารถสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกรและมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ถ้าครูไม่เก่ง เราก็เปลียนประเทศไม่ได้ ดังนั้น เราจะต้องปรับปรุงการผลิตครูให้มีคุณภาพสูงให้ได้โดยเร็วโดยความร่วมมือของสถาบันผลิตครู
ด้าน นายณัฏฐพล กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นโอกาศดีที่ตนได้มีโอกาสพบกับต้นทาง คือมหาวิทยาลัย คณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตครู จึงให้แนวทางการผลิตครูให้ได้ตรงกับความต้องการของกระทรวงศึกษาธิการ ในอนาคตจะต้องมีการปรับหลักสูตรการผลิตครูเพื่อให้ได้ครูที่ตรงความต้องการ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยใดพร้อมก็สามารถเริ่มปรับปรุงดำเนินการได้เลย และในช่วง 2 ปีแรกนี้ หากศธ.มีความจำเป็นก็จะต้องพัฒนาครูก่อน เพื่อรองรับการพัฒนากำลังคนของประเทศ ส่วนครูท่ีจะมาทดแทนจำนวนครูที่เกษียณราชการกว่า 2 หมื่นคนนั้น ก็จะไปดูว่าการบรรจุปกติจะสามารถตอบโจทย์ศธ.ที่ต้องการครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถตรงกับวิชาที่สอนได้หรือไม่ ดังนั้น ในช่วง 8 เดือนนี้ ก่อนที่ครูจะเข้ามาสู่ระบบ ศธ.จะดูว่าจะสามารถเทรนนิ่งครูเหล่านี้ก่อนหรือไม่ เพื่อให้ได้ครูที่ตรงกับความต้องการที่จะมาผลิตกำลังคน โดยตนจะหางบประมาณมาสนับสนุน แต่ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะใช้งบจำนวนเท่าใด จะต้องหารือกับทางเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อวางแผนการเทรนนิ่งหลังจากนั้นก็จะหาหน่วยงานที่จะเทรนนิ่งครู
“เราเจอกันช้าไป ควรเจอกันตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้วเพราะผมและท่านนายกก็พูดอยู่เสมอว่า เราจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาไทย เพราะต้องการบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศไทย มีหลายเรื่องที่เราต้องปรับปรุงพัฒนาและต่อยอด ประเทศกำลังจะมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้น ถ้าเราไม่เร่งพัฒนาในอีก 5 ปีเราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ที่ท่านว่าประเทศไม่ได้ขาดแคลนครู แต่ขาดครูคุณภาพนั้นผมเห็นด้วย ดังนั้น การผลิตครูถ้าผลิตมากไปก็ต้องลดปริมาณการผลิตลง แล้วเพิ่มคุณภาพแทนจะคุ้มค่ากว่า รวมถึงการพัฒนาภาษาอังกฤษของผู้เรียนก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งภายใน 2-3 ปีนี้ศธ.จะเริ่มให้ผู้เรียนในระดับปฐมวัยเรียนภาษาอังกฤษอาจจะช่วยได้ในระยะยาว ส่วนระดับประถมฯและมัธยมฯจะต้องขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ และในปีการศึกษา 2563 โรงเรียน 95% จะต้องมีระบบอินเตอร์เน็ตในห้องเรียนส่วนที่สอง คือ จะฉีดยาแรงภาษาอังกฤษให้กับผู้เรียนสายอาชีวศึกษา ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษค่นหาข้อมูลและมีทักษะในการสื่อสารได้”
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก แนวหน้า 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562