สกศ.สรุปผลจัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ 90% ไม่เห็นด้วย "ครูใหญ่-ผู้ช่วยครูใหญ่-ใบรับรองความเป็นครู" ห่วงโครงสร้างศธ.ใหม่ รวบอำนาจเข้าส่วนกลาง
วันนี้ (19 พ.ย.) ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า จากการที่ สกศ.ได้จัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ ไป 2 ครั้ง คือ ที่กรุงเทพมหานคร ช่วงเดือนกันยายน และ จังหวัดอุดรธานี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นั้น สกศ.จะรวบรวมและบันทึกข้อคิดเห็นเสนอ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในสัปดาห์หน้า โดยมีประเด็นที่วิจารณ์กันมากประมาณ 38-39 มาตรา ซึ่งประเด็นที่ผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 90 % ไม่เห็นด้วย คือ การเปลี่ยนชื่อเรียก”ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น”ครูใหญ่” เรื่องผู้ช่วยครูใหญ่ และการเปลี่ยน”ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น”ใบรับรองความเป็นครู” และยังมีผู้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรทำให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ได้มาแล้วก็ไม่ได้ใช้ เมื่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯหมดอายุก็ไปต่ออายุ ถ้าต่อไม่ทันก็เสียแค่ค่าปรับเท่านั้น
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า ผู้เข้าร่วมประชุมบางส่วนมีความกังวลเรื่องการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นเอกภาพนั้น จะทำให้โครงสร้าง ศธ.เป็นอำนาจเชิงเดี่ยวที่ยึดปลัดกระทรวงศึกษาธิการคนเดียวหรือไม่ เป็นการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางหรือไม่ รวมถึงมาตรา 40 ที่ระบุว่า คุรุสภานอกเหนือจากการจะดูแลเรื่องการประกอบวิชาชีพแล้วต้องดูแลเรื่องสวัสดิการครูด้วย จึงมีผู้กังวลว่าจะเป็นการยุบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)ไปรวมกับคุรุสภาหรือไม่ โดยในมาตรานี้มีผู้เสนอให้ระบุไปเลยว่า สกสค.ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิการ เป็นต้น และบางเรื่องก็เป็นความเข้าใจผิด เช่น เรื่องการตั้งสำนักงานนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งทำให้ซ้ำซ้อนกับ สกศ. แต่ความจริงแล้วเป็นการปรับสถานะ สกศ.เป็น สำนักงานนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเรื่องต่างๆเหล่านี้ก็จะบันทึกทำความเข้าใจให้ชัดเจนด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่ง ศธ.ต้องไปเสนอผลการจัดเวทีสาธารณะและชี้แจงร่างกฎหมายต่อไป.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน 2562