ภัยผู้หญิง ' ยาเปลื้องผ้า ' ระบาด
ภัยผู้หญิง‘ยาเปลื้องผ้า’ระบาด
จับตายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาททั้งเก่าและใหม่ที่หวนกลับมาระบาดใหม่ ตรวจฉี่ไม่เป็นสีม่วง สุดอันตราย “ยาเปลื้องผ้า” ผสมเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ออกฤทธิ์รุนแรงใน 10-15 นาที
น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าการผลิตยาไอซ์ ในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งพบการลำเลียงผ่านประเทศไทยไปสู่ตลาดโลกมากขึ้น การแพร่ระบาดของยาเสพติดเปลี่ยนจากสถานบันเทิงเป็นการใช้เสพตามหอพัก คอนโดมิเนียม หอพักมากขึ้น
“มียาเสพติดกลุ่มเล็กๆ ที่เป็นปัญหาคือ สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คือ ยาไอซ์ ยาอี ยาไมด้าโซแลม โดยยาไอซ์เป็นเมตแอมเฟตามีน หรือยาบ้าบริสุทธิ์ออกฤทธิ์แรง ราคาแพง หายาก ยากลุ่มนี้เสพในกลุ่มเล็กๆ ยาไมด้าโซแลม มีผลต่อจิตประสาททำให้ลืมตัวสะลึมสะลือ ทำให้พลาดพลั้ง ถ้าเป็นผู้หญิงทำให้เสียตัวได้ บางครั้งเรียกยาสลัดผ้าบังคับตัวเองไม่ได้ไม่รู้สึกตัว แต่เดินไปไหนมาไหนได้ แต่ไม่รู้ตัวถูกชักจูงให้ทำในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ตัวได้ ทำให้เสียตัวได้ เรียกกันในหมู่นักเที่ยวว่ายาสลัดผ้า ยาเสียสาว ยาเปลื้องผ้า”
ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยากลุ่มเมตแอมเฟตามีน คือ ยาบ้า ยาอี ยาไอซ์ ใช้ชุดตรวจชุดเดียวกับยาบ้า หากเสพยาเหล่านี้เวลาตรวจปัสสาวะได้ สีม่วง แต่กลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท เช่น ยาอัลปราโซแลม ยาไมด้าโซแลม หากใช้ชุดตรวจยาบ้าจะไม่พบปัสสาวะสีม่วง ต้องใช้ชุดตรวจเฉพาะเพื่อหาสารประกอบกลุ่มเบนโซไดซีปีน
“สำหรับวายร้ายตัวใหม่ที่ต้องจับตามองคือ วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทพวกไมด้าโซแลม ผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 15-20 นาที จะไม่รู้ตัว ฟื้นขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไร หรือถูกทำอะไรไป ตัวต่อมาคือ กาว กัญชา ล่าสุดพบผสมในอาหาร คือ ผสมเค้กกินแล้วเฮฮา ครึกครื้น สุดท้ายก็ติดกัญชา และสุรา ยอดติดสุราจาก 4% เพิ่มเป็น 50% พบสัญญาณมีการใช้มากขึ้น”
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า ยาไมด้าโซแลม ถือเป็นยานอนหลับอย่างแรง ใช้รักษาคนไข้ ยานี้ต้องสั่งโดยแพทย์ แต่พบการลักลอบจำหน่าย นำเข้าจากแถบประเทศเพื่อนบ้านและยุโรป ใช้ในกลุ่มที่มีฐานะดี ส่วนยาอัลปราโซแลม หรือยาแฮปปี้จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ทางการแพทย์ใช้เป็นยาคลายความวิตกกังวลเป็นยานอนหลับ กลุ่มนักเที่ยวกลางคืนใช้เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเพิ่มความกล้าไม่อาย
ทั้งนี้ ในวันที่ 13-14 กรกฎาคม กรมการแพทย์โดยสถาบันธัญญารักษ์จัดประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 6 “เกาะติดตัวร้าย โฉมใหม่ยาเสพติดสู่ชัยชนะที่ยั่งยืน : เมืองไทยแข็งแรง” มีผู้ทำงานด้านการบำบัดรักษายาเสพติดเข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น เป็นเวทีวิชาการให้บุคลากรก้าวทันการบำบัดผู้ติด ยาเสพติดด้วยแนวทางใหม่ ติดตามยาเสพติดตัวใหม่ๆ หรือตัวเก่าที่กลับมาเป็นปัญหาใหม่