"ณัฏฐพล" ย้ำงบฯ64เลิกวิธีปฎิบัติแบบเดิมๆ
รมว.ศึกษาธิการ ถก วางแผนงบประมาณปี 64 ให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล และนโยบาย ศธ. ต้องลดปัญหาใช้งบซ้ำซ้อน ชี้ เลิกวิธีปฎิบัติแบบเดิมๆ
วันนี้ (13 พ.ย.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ประชุมหารือเรื่องการจัดเตรียมงบประมาณปี 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับฝ่ายจัดทำงบประมาณขององค์หลัก ศธ. เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในการจัดเตรียมงบประมาณให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล และนโยบายของ ศธ. ที่สำคัญเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ เพราะตนมองว่าในบางเรื่องอาจจะสามารถบริหารจัดการงบประมาณร่วมกันระหว่างหน่วยงานได้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เราจะไม่ทำงบประมาณเหมือนกับที่ผ่านมา คือ การให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้เสนอความต้องการเข้ามาและส่วนกลางจะสนับสนุนลงไปให้ แต่การจัดทำงบประมาณ ปี 2564 นั้น จะต้องมีการวางแผนในการสนับสนุนเรื่องต่างๆ ที่เข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาครูและบุคลากร ที่จะต้องทำให้ตรงตามเป้าหมายที่ ศธ. วางไว้ เช่น เรื่องภาษาอังกฤษ ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) เป็นต้น
“ผมคงไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ว่างบประมาณในปี 2564 จะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะผมต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน ทุกอย่างจะต้องมีความเหมาะสม ซึ่งผมต้องการให้ทุกๆ เรื่องที่แต่ละองค์กรหลักของ ศธ.จะขับเคลื่อน มีความชัดเจนก่อน ทั้งเรื่องของเวลาในการดำเนินงาน อุปกรณ์ที่จะใช้ในการขับเคลื่อน รวมไปถึงจำนวนเงินที่จะใช้ เพื่อที่จะอธิบาย และสร้างความสบายใจให้กับสำนักงบประมาณในการสนับสนุนภารกิจงานตรงนี้ แต่ส่วนตัวคิดว่างบประมาณปี 2564 คงต้องเพิ่มขึ้นจากเดิม นอกจากนี้ผมยังได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการ รมว.ศธ.เป็นที่ปรึกษาในการขับเคลื่อนการจัดทำงบประมาณปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะมีการติดตามการจัดทำงบประมาณในทุกสัปดาห์ เพื่อรับทราบความคืบหน้า รวมถึงปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในการทำงบประมาณรูปแบบใหม่นี้ด้วย” รมว.ศธ.กล่าว
นายณัฏฐพล กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องงบประมาณที่จะใช้ในเรื่องการอบรมพัฒนาครูนั้น ตนมองว่าเมื่อ ศธ. สามารถนำระบบอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนได้แล้ว การอบรมครูก็จะเปลี่ยนจากการที่อบรมในโรงแรมมาดำเนินการที่โรงเรียนที่มีศักยภาพแทน ซึ่งจะทำให้ครูไม่จำเป็นต้องเดินทางและจะไม่เสียเวลา และสามารถอบรมในช่วงนอกเวลาราชการได้ ตนคิดว่าน่าจะได้ประโยชน์กับครูมากยิ่งขึ้น และตนมั่นใจว่าการอบรมครูในอนาคตจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง ครูสะดวกและได้รับความรู้ตรงกับแนวทางของศตวรรษที่ 21 สำหรับเรื่องโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร หรือ คูปองครู ก็ยังคงมีอยู่ในสัดส่วนที่มีความจำเป็น โดยเรื่องนี้จะถูกกำหนดให้เกี่ยวโยงกับการเลื่อนวิทยฐานะของครูด้วย ซึ่งรูปแบบในการดำเนินการเรื่องนี้จะทำให้ครูมีความคล่องตัวและมีความสะดวกในการเลื่อนวิทยฐานะมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 13 พฤศจิกายน 2562