ในโลกปัจจุบันเป็นยุคของ Disruptive Technology ส่งผลให้ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน และเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามมาอย่าง AI (Artificial Intelligence), IoT (Internet of Things), VR (Virtual Reality) เป็นต้น โดยได้สร้างความปั่นป่วนและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ซึ่งหากมองในมิติด้านการศึกษาที่เป็นหน่วยของการผลิตคน ป้อนสู่ตลาดแรงงานก็ต้องเตรียมคนให้มีความพร้อมรับกับสิ่งใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ด้วยการเสริมทักษะจำเป็น ในศตวรรษที่ 21 รวมถึงผสมผสานระหว่างความรู้ในห้องเรียนและกิจกรรมนอกห้องเรียนเข้าด้วยกัน
“การจัดรูปแบบการเรียนการสอนของครูต้องเปลี่ยนไปจากเดิม โดยการเรียนรู้และกิจกรรมควรมีความหลากหลาย ครูจึงต้องตื่นตัวและแสวงหาสื่อจากสถานที่ต่างๆ มาจัดสอนให้กับนักเรียน เพื่อสร้างห้องเรียนที่เปิดกว้างและสามารถสร้างแรงบันดาลใจหรือจุดประกายความคิดให้กับนักเรียนได้”
ดร.วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ให้ความคิดเห็นต่อการสร้างห้องเรียนรูปแบบใหม่ พร้อมบอกว่าในส่วนของพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศได้ให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้ และได้นำ
Innovation Studio เข้ามาตอบโจทย์การสอนให้กับครูไทย
Innovation Studio เป็นกิจกรรมเสริมที่อยู่ใน พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ มีเป้าหมายหลักคือต้องการขับเคลื่อนความเป็นนวัตกรให้กับเด็กๆ ตั้งแต่การเรียนรู้ในการเป็นนักสร้าง ถ่ายทอดแนวคิดและสื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งทักษะเหล่านี้จะหล่อหลอมให้กับเด็กๆ ผ่านกิจกรรม ที่เน้นการปฏิบัติจริง โดย Innovation Studio ของ อพวช. นั้น ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ในนามของ LEGO®Education ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นที่เดียวที่มีอุปกรณ์ด้าน STEAM ครบที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีหลักสูตรและกิจกรรมให้เลือกตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ยกตัวอย่างเรื่องโค้ดดิ้ง (Coding) ที่เด็กอนุบาลจะได้เรียนรู้ระบบการคิดอย่างเป็นตรรกะ ขณะที่ชั้นประถมศึกษาจะเป็นหลักพื้นฐานของโคดดิ้ง ให้เห็นการทดลองระดับเล็กๆ ส่วนชั้นมัธยมศึกษาเป็นการฝึกทักษะการควบคุมหุ่นยนต์
“Innovation Studio เป็นเหมือนห้องเรียนที่เน้นให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน รวมถึงมีปฏิสัมพันธ์กับครู ซึ่งเมื่อเด็กๆ ได้ทดลองทำด้วยตัวเองก็จะเกิดการจดจำได้มากกว่าการอ่านอย่างเดียว พร้อมทั้งฝึกการคิดวิเคราะห์ไปในตัว โดยหลักสูตรของ อพวช. จะเน้นพัฒนาเด็กให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตั้งเป้าให้เด็กเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ได้สร้างและลงมือปฏิบัติจริง พร้อมต่อยอดสู่นวัตกรรมใหม่ๆ”
โดย พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ร่วมจัดกิจกรรมเวิร์คชอป “Innovation Studio: นวัตกรรมการเรียนรู้สู่ศตวรรษที่ 21 ให้ครูไทยในงาน มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูครั้งที่ 12 (EDUCA 2019) ซึ่ง ดร.วิจิตรา ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ได้นำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ WeDo 2.0 Pulling มาเป็นตัวอย่างให้ครูเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องแรงดึงและแรงเสียดทาน แล้วช่วยกันประกอบหุ่นยนต์ในระยะเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งเขียนโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์และจัดการแข่งขันระหว่างทีม โดยครูสามารถนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดกับการสอนนักเรียนได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการบังคับหุ่นยนต์ทั้งการหมุนของล้อ การปรับเปลี่ยนชนิดและขนาดล้อ หรือวิธีการเขียนโปรแกรมเพื่อให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวแตกต่างไปจากเดิม รวมถึงคำถามที่สอดแทรกระหว่างการทำกิจกรรมก็สามารถใช้เป็นคำถามให้นักเรียนได้ฝึกคิดได้ด้วยเช่นกัน
“หลักสูตรที่นำมาให้ครูได้ลองฝึกปฏิบัติเป็นเรื่องที่เรามีอยู่ใน Innovation Studio ภายใน พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ของ อพวช. อยู่แล้ว ผู้ที่สนใจทั้ง ครู นักเรียน และผู้ปกครอง สามารถจองคอร์สเข้ามาเรียนรู้กับเราได้ ซึ่งส่วนตัวมองว่าในอนาคตนั้นทุกคนจะเรียนรู้เฉพาะทักษะที่ตัวเองต้องการ การค้นหาและทำให้ตัวเองเรียนรู้ว่าทักษะไหนจำเป็นสำหรับตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน โรงเรียนจึงต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึง อาจไปดูว่าเทรนด์การศึกษาระดับโลกเป็นอย่างไร เทคโนโลยีใดจะเข้ามา นักเรียนต้องเรียนรู้อะไรบ้าง แล้วนำมาสร้างแนวทางในการพัฒนาศักยภาพนักเรียน”
ทั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนสามารถเติมเต็มทักษะนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ จึงมีบริการออกแบบหลักสูตรหรือกิจกรรมตามความต้องการของโรงเรียน อีกทั้งมีแผนอัปโหลดบางหลักสูตรของ Innovation Studio ลงเว็ปไซต์ และมีคอร์สทดลองเรียนออนไลน์ฟรี (MOOC) ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทันที ขณะเดียวกัน ภายใน พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ยังมีนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับ Disruptive Technology, Data Sphere และกิจกรรมเสริมที่เปลี่ยนตามโอกาส ซึ่งสามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ในเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว