เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดเวทีสัมมนาวิชาการ “จับตาอาชญากรรมไซเบอร์ (Cyber Crime) ...ภัยคุกคามยุคดิจิทัล” 2562ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม 2โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อให้ข้อมูลจากงานวิจัยที่ใช้พัฒนางานด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ของประเทศ
รองศาสตราจารย์ พ.ต.อ.ดร.ประพันธ์ สหพัฒนา หัวหน้าโครงการวิจัย มาตรการและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงในการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เผยสถิติอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เรียงลำดับตามมูลค่าความเสียหายที่มีการแจ้งศูนย์รับข้อร้องเรียนทางอินเตอร์เน็ต โดยการหลอกลวงเป็นผู้รับเงินทางอีเมล มีมูลค่าความเสียหายมาเป็นลำดับที่ 1อยู่ที่ประมาณ 20,000ล้านบาท รองลงมาคือการหลอกลวงแบบโรมานซ์สแกม(พิศวาสอาชญากรรม หรือภัยแฝงที่มาจากการพบรักในโลกออนไลน์) มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000ล้านบาทและลำดับที่ 3คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 4,000ล้านบาท รวมทั้งยังได้กล่าวถึงรูปแบบการหลอกลวง ซึ่งมี 2ประเภท คือ การหลอกลวงแบบพื้นฐาน เช่น การหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีผู้อื่น และการหลอกลวงแบบซับซ้อน เช่น การขายบัตรคอนเสิร์ต การเจาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้ได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้อื่น เป็นต้น
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กุลนิเทศ หัวหน้าโครงการการพัฒนาหน่วยงานตำรวจที่ปฏิบัติงานในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยียังขาดองค์ความรู้ ซึ่งต้องมีการปรับปรุงและได้รับการอบรมทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ในเรื่องของความรู้ เครื่องมือการปฏิบัติงาน และประสบการณ์ นอกจากนี้หน่วยงานด้านการป้องกันและปราบปรามฯ จะต้องมีการปรับโครงสร้างหน่วยงาน เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องอำนาจหน้าที่ การปฏิบัติงานที่มีความซ้ำซ้อน โดยขยายโครงสร้างกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นศูนย์ภูมิภาคต่าง ๆ
สุดท้ายนี้ พล.ต.ท.ดร.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ ผู้ประสานงานชุดโครงการ ตัวแทนหน่วยงานตำรวจ ได้ย้ำเตือนประชาชนให้ระวังการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลและอย่าหลงเชื่อโฆษณาเชิญชวน เพื่อลดการสูญเสียทรัพย์สิน