"อำนาจ" มอบ 5 นโยบาย ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ย้ำสร้างคุณภาพผู้เรียน ,Big Data ,ภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี
7พ.ย.62-ที่โรงเรียนตราษตระการคุณ จังหวัดตราด - นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ 2/2562 ตอนหนึ่งว่า การบริหารจัดการองค์กรตนจะใช้พื้นที่เป็นฐาน โดยมีที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยเลขาฯ กพฐ. เป็นผู้ประสานงาน สื่อสาร และนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งกำกับ ดูแล อำนวยความสะดวก ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะลงพื้นที่ในระดับภาค เขตพื้นที่กลุ่มโรงเรียนขนาดใหญ่ และคลัสเตอร์ทั้ง 5 ภูมิภาค ซึ่งสิ่งที่เราให้ความสำคัญ ประการที่ 1 คือคุณภาพผู้เรียน โดยยึดห้องเรียนเป็นฐาน มีนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอน บนความหลากหลายตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ประการที่ 2 คือการใช้ระบบ Big Data นำข้อมูลมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประการที่ 3 คือ การสอนภาษาอังกฤษ ให้ดำเนินการสอนอย่างจริงจังด้วยรูปแบบที่หลากหลาย ประการที่ 4 ด้านเทคโนโลยี คือ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ และ การพัฒนาจัดกระบวนการเรียนรู้
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ตนมองว่าสิ่งที่ สพฐ. ต้องหารือกันต่อไป คือ การพัฒนาโรงเรียนนิติบุคคล รวมถึงการสื่อสาร สร้างการรับรู้ และช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่ง สพฐ. จะลงพื้นที่ในกลุ่มคลัสเตอร์ เพื่อรับทราบข้อมูลด้านคุณภาพผู้เรียนที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร จะร่วมกันแก้ไขพัฒนาอย่างไร ให้สอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังร่วมรับรู้ปัญหาและแก้ปัญหาโดยมีเป้าหมายชัดเจนไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ยังได้มอบนโยบายว่าให้งดดูงานต่างประเทศ 1 ปี รวมทั้งลดงานอบรมสัมมนา ยกเลิกการจัดงานแบบอีเว้นต์ และทบทวนการใช้จ่ายงบประมาณที่ซ้ำซ้อน โดยสำหรับในส่วนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดอย่างเช่น ภัยธรรมชาติ ทุก สพท.ก็ต้องให้การช่วยเหลือทันที และ รมว.ศธ.ยังฝากเรื่องของโครงการอาหารกลางวัน การลงโทษเด็กที่เกินความพอดี การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ให้เราช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง รวมถึงการรับนักเรียน ปี 2563 โรงเรียนแข่งขันสูง ก็ให้ดำเนินการรับนักเรียาอย่างเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะปีนี้ การรับนักเรียนต้องมีความยืดหยุ่น
ทั้งนี้ในส่วนของการการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลบนเกาะแก่ง และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project) เราต้องหาวิธีการพัฒนาแบบร่วมด้วยช่วยกันทุกภาคส่วน เพราะสิ่งที่สำคัญ คือ คุณภาพผู้เรียน ซึ่งการขับเคลื่อนจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนนั่นเอง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562
"อำนาจ"มอบ 5 นโยบาย ผอ.สพท.
"อำนาจ"ประชุม ผอ.สพท. มอบนโยบาย 5 เรื่อง เน้นผลลัพธ์ถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ
วันนี้(8 พ.ย.) ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ตนได้ประชุมร่วมกับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และได้มอบนโยบายครั้งแรกใน 5 ประเด็น ได้แก่
1. เนื่องจากสังคมไทยมีความคาดหวังกับการศึกษาขั้นพื้นฐานสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพผู้เรียน ดังนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาผู้เรียนจะต้องกลับไปที่โรงเรียน ไปดูที่โรงเรียน ห้องเรียนต้องเป็นฐานในการพัฒนาการเรียนรู้ ให้ครูอยู่ห้องเรียน ครูต้องสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาตามศักยภาพของผู้เรียน โดยโรงเรียนและครูต้องกล้าคิด กล้าเปลี่ยนแปลงวิธีการ
2.ต้องใช้ประโยชน์จากบิ๊กดาต้า แต่เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่วันนี้ยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้องมีการขับเคลื่อนข้อมูลกลางหรือบิ๊กดาตาเพื่อสนับสนุนให้ครู โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาไม่ต้องลงมาจัดการกับข้อมูลเอง แต่จะใช้บิ๊กดาตาเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อน
3.สิ่งที่ต้องดำเนินการร่วมกัน คือ การเพิ่มจำนวนผู้เรียนภาษาอังกฤษที่มีศักยภาพสูงขึ้น เพิ่มปริมาณครูที่จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้มากขึ้น โดยให้เริ่มจากโรงเรียนประจำจังหวัดและโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด
4.ต้องพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก และ
5.โรงเรียนในทุกเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องแสวงหาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ภาคเอกชน ชุมชน สังคม ท้องถิ่น ให้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาโรงเรียนจะมีภาคีเครือข่ายมากมาย แต่ความสัมพันธ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก ดังนั้นโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเปิดใจ เปิดรั้ว ขับเคลื่อนงานเพื่อเป้าหมายสุดท้ายคือคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ก้าวเดินไปด้วยมิติที่หลากหลายตามสภาพแวดล้อมของสังคมที่แตกต่างกัน และตามความพร้อมและศักยภาพของผู้เรียน รวมถึงสังคมและชุมชนรอบด้าน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2562