7พ.ย.62-ตั้ง “อัมพร” ประธานฯ ปรับปรุงโครงสร้าง สพฐ. "อำนาจ"เผยขณะนี้อยู่ในขั้นเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และยังไม่มีธงปรับไปทิศทางไหน แต่ยึดเนื้องานและคุณภาพผู้เรียน ประโยชน์ต่อการศึกษาเป็นหลัก รวมทั้ง ขุดหาปัญหาในโครงสร้างที่มีอยู่เดิม แย้มต้องปรับ ม. 53 เพราะเป็นการใช้อำนาจไม่ถูกที่ ความเป็นจริงแล้วผู้บังคับบัญชาควรเป็นผู้ใช้อำนาจ
นายอำนาจ วิชยานุวัติ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) รักษาราชการเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวถึงการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ที่มีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) เป็นประธาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไประดมความคิดเห็นและพิจารณาร่วมกันว่าการดำเนินการเรื่องดังกล่าวจะไปในทิศทางไหน ซึ่งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตนได้แต่งตั้งนายอัมพร พินะสา รองเลขาฯ กพฐ. เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างในส่วนของสพฐ.ขึ้น โดยคณะกรรมการชุดนี้มีตัวแทนจากหลายฝ่ายทั้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว และได้มีข้อสรุปเบื้องต้นว่า การปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.นั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างรอบด้าน ซึ่งยังไม่มีธงที่จะเคาะออกมาว่าการปรับโครงสร้าง ศธ.จะออกมาในรูปแบบไหน และยังไม่มีโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่งเป็นการเฉพาะ
นายอำนาจ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างในส่วน สพฐ.ที่ตั้งขึ้นได้มีกาวิเคราะห์ตั้งแต่หน่วยปฏิบัติงาน คือ โรงเรียน เพราะถือเป็นหน่วยสำคัญที่สุดในการยกระดับคุณภาพการศึกษาว่าโรงเรียนมีความคิดเห็นต่อโครงสร้างที่เป็นอยู่อย่างไรบ้าง จากนั้นในระดับ สพท.มีความเห็นอย่างไรต่อโครงสร้างที่มีอยู่เดิมบ้างว่าส่วนไหนที่เขตพื้นที่มีส่วนสนับสนุนกำกับโรงเรียนยังขาดความคล่องตัว ซึ่งรวมไปถึงเมื่อมีคำสั่งสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 19/2560 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ.เกิดขึ้นการทำงานระหว่าง กศจ.และ สพท. ว่า มีส่วนไหนที่ยังไม่ลงตัวและเป็นอุปสรรคจนทำให้เกิดปัญหารการส่งต่องานมายงส่วนกลางบ้าง โดยเมื่อวิเคราะห์เสร็จสิ้นแล้วจะนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบโครงสร้างของ สพฐ.ต่อไป เพื่อให้การปรับโครงสร้างตอบโจทย์คุณภาพผู้เรียนและยกระดับสถานศึกษา
รักษาการ เลขาสพฐ.กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เราต้องมาวิเคราะห์ภาพรวมทั้งหมด เพราะนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มอบการบ้านมาว่าการปรับโครงสร้างจะต้องลดงานซ้ำซ้อน ดังนั้น เมื่อได้ข้อมูลที่ตลกผลึกทั้งหมด จะนำเสนอให้ รมว.ศธ. และคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.ชุดใหญ่พิจารณาต่อไป ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลการปรับโครงสร้างในส่วนของสพฐ.นั้นจะพูดถึงเนื้องานและคุณภาพผู้เรียนเป็นหลัก และสิ่งใดที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อการศึกษา รวมถึงโครงสร้างที่มีอยู่เดิมมีปัญหาอะไร และเมื่อปรับโครงสร้างแบบใหม่ จะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ควรจะอยู่ที่ไหน ซึ่งในประเด็นมาตรา 53 นี้เป็นการใช้อำนาจไม่ถูกที่ โดยความเป็นจริงแล้วผู้บังคับบัญชาควรเป็นผู้ใช้อำนาจ อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างในส่วนของ สพฐ.จะดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
สำหรับ ม.53 ของพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 มีเนื้อหาว่าด้วยผูัมีอำนาจสั่งการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ที่้สังกัด ศธ. และสังกัดสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งกำหนดให้ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ..)ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ ที่เป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมตัดสินใจ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562