"ม็อบชุดดำไม่มา" แต่มีตัวแทนร้อง"ณัฏฐพล"อึดอัดใจทำงานกับ ศธจ. อ้างครูด้วยกันย่อมรู้เรื่องดีกว่า
29 ต.ค.62-ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเวลา 17.30 น. ตัวแทนกลุ่มสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) พร้อมด้วยตัวแทนผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ได้เข้าพบนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เพื่อขอให้ทบทวนการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค โดยนายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท. กล่าวว่า ตนต้องการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ได้มีผู้แทนครู และผู้บริหารเขตพื้นที่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนใน กศจ.ด้วย ซึ่งตนมองว่าการไม่มีผู้แทนครูอยู่ใน กศจ.เลยแม้แต่คนเดียวเหมือนเป็นการหมิ่นเกียรติครูในแต่ละจังหวัดทำไมต้องให้ ผู้บริหารส่วนราชการอื่นมาบริหารครูเก่งกว่าดีกว่าตรงไหน รวมถึง รมว.ศธ. ได้ระบุว่าไม่ทราบว่าจะยุบ สพท. หรือ กศจ. ต้องรอ เรื่องโครงสร้างก่อน แต่ทางปฏิบัติ ได้จัดสรรงบ สร้างสำนักงาน ศธจ. ทั่วประเทศเอาอัตรากำลังจาก สพฐ. ไปเป็นของ ศธจ หลายร้อยอัตรา แต่ในขณะที่ พวกตนขอเพิ่มเขตพื้นที่มัธยมให้ครบทุกจังหวัดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กและข้าราชการ ผู้ปกครองที่ต้องติดต่อราชการที่เขต สภาการศึกษาก็เห็นชอบให้ตั้งเขตมัธยมให้ครบทุกจังหวัด มีการวิเคราะห์จบแล้วว่าไม่เพิ่ม คนและเพิ่มเงินและสถานที่ แต่ รมว.ศธ. กลับไม่ลงนาม อ้างว่า รอโครงสร้าง ศธ.และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับการศึกษาที่ดีขึ้นเลย
"ผมรู้สึกอึดอัดใจที่มีการตัดอำนาจการบริหารงานบุคคลของผอ.เขตพื้นที่ฯ ไปเป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้และยังเป็นข้าราชการต่างกรมด้วย ทำให้เกิดความไม่คุ้นเคย เพราะพวกผมเป็นทหารที่รบอยู่ในพื้นที่ ย่อมรู้ว่าตรงไหนมีระเบิด ตรงไหนมีศัตรู มีโอกาส แต่หากเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ก็จะมองอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งข้ออ้างที่มีการปรับโครงสร้างในภูมิภาค เนื่องจากมีการทุจริตแต่ก็ยังไม่มีตัวผู้ทุจริตมาลงโทษไม่ได้สักคน และในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้ส่งคนของตัวเองทั้งหมดไปบริหารการศึกษา" นายก ส.บ.ม.ท. กล่าว
ด้านนายณัฏฐพล กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะทำงานที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้แล้ว โดยมีเหตุผลหลักเพียงเรื่องเดียว คือ ในการบริหารงานจะต้องลดความซ้ำซ้อนในด้านสายการปฏิบัติและการสั่งงาน รวมถึงไม่มีการซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ เพราะทุกอย่างที่ ศธ. มีนโยบายเราต้องถามว่า เด็กและเยาวชนได้ประโยชน์อะไร แม้ว่าตนจะรักผู้บริหารขนาดไหน แต่ก็ไม่มีความสำคัญเท่ากับเด็กและเยาวชนของชาติ การตัดสินใจทุกอย่างต้องใช้เด็กและเยาวชน เป็นฐาน ซึ่งหวังว่าในอนาคตกระบวนการต่างๆ จะคลี่คลายไปได้ด้วยตัวของมันเอง ดังนั้นในตอนนี้การปรับปรุงโครงสร้าง ศธ.ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ตนเข้าใจว่าทุกคนมีความอึดอัดใจในการทำงาน แต่เรื่องนี้เราต้องวางแผนวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านดูความเหมาะสมว่ารูปแบบการจัดการศึกษาในพื้นที่แบบไหนจะเป็นทิศทางที่ดีที่สุด ดังนั้นขอให้ทุกคนมองเรื่องยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก ทั้งการสร้างเด็กในยุคดิจิทัล การยกระดับภาษาอังกฤษ การพัฒนาครูในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่จะเปลี่ยนแปลงแบบไหนก็อยากให้ทุกคนมาช่วยกันกับตนในการขับเคลื่อน
“ผมอยากให้คนทุกใจเย็นๆ และมั่นใจว่า ในช่วง 3 เดือนที่ผ่าน ผมแสดงให้เห็นแล้วว่าผมตั้งใจเข้ามาร่วมทำงานกับพวกเรา เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทย ไม่มีผลประโยชน์อื่นทับซ้อน ซึ่งผมไม่สามารถทำได้หากพื้นที่ไม่ร่วมด้วย ทุกคนใน ศธ.ต้องร่วมกัน ขับเคลื่อนในทางเดียวกัน เพราะการศึกษาไทยไม่สามารถเดินโดยที่ไม่มีความร่วมมือของทุกคน เรื่องนี้คือวาระของชาติ และพวกเรายังต้องร่วมกันปรับปรุงภายในของตนเอง เพื่อที่จะสร้างความมั่นใจให้กับบุคคลภายนอกเห็นความเอกภาพในการร่วมกันเดินไปข้างหน้า ดังนั้นผมขอว่าหากเราจะร่วมเดินหน้าไปด้วยกัน ทุกคนต้องรับว่าภาระจะมีมากขึ้น แต่ผมก็จะช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ให้ ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าบ้างอย่างผมไม่สามารถทำได้ เช่น การยกเลิกคำสั่ง คสช. เพราะการดำเนินการเรื่องเหล่านี้มีกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาตรงนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาอยู่ จึงต้องมีการมาวิเคราะห์กัน” รมว.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก ไทยโพสต์ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562
ส.บ.ม.ท.บุกศธ.ถก "ณัฏฐพล" แก้โครงสร้างศธ.ภูมิภาค
สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย เข้าพบ รมว.ศึกษาธิการ ถก ปรับโครงสร้างศธ.ภูมิภาค วอน ขอให้มีผู้แทนครูในบอร์ดกศจ. ด้าน “ณัฏฐพล” เมิน การดำเนินการเรื่องโครงสร้างยังไม่มีข้อยุติ
วันนี้ (29 ต.ค.) เวลา 17.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตัวแทนกลุ่มสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ประมาณ 20 คนได้เข้าพบนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอให้ทบทวนการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในภูมิภาค โดยนายรัชชัย์ ศรสุวรรณ นายก ส.บ.ม.ท. กล่าวว่า ตนต้องการให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ได้มีผู้แทนครูและผู้บริหารเขตพื้นที่ได้เข้ามาเป็นตัวแทนในกศจ.ซึ่งตนมองว่าการไม่มีผู้แทนครูอยู่ในบอร์ด กศจ.เลยแม้แต่คนเดียวเหมือนเป็นการหมิ่นเกียรติครูในแต่ละจังหวัดทำไมต้องให้ผู้บริหารส่วนราชการอื่นมาบริหารครูเก่งกว่าดีกว่าตรงไหน รวมถึงประเด็นที่ รมว.ศธ. ได้ระบุว่าไม่ทราบว่าจะยุบ สพท หรือ กศจ ต้องรอเรื่องโครงสร้างก่อน แต่ทางปฏิบัติได้จัดสรรงบสร้างสำนักงาน ศธจ. ทั่วประเทศเอาอัตรากำลังจาก สพฐ. ไปเป็นของ ศธจ. หลายร้อยอัตรา แต่ในขณะที่ พวกตนขอเพิ่มเขตพื้นที่มัธยมให้ครบทุกจังหวัดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กและข้าราชการ ผู้ปกครองที่ต้องติดต่อราชการที่เขต สภาการศึกษาก็เห็นชอบให้ตั้งเขตพื้นที่มัธยมให้ครบทุกจังหวัด มีการวิเคราะห์จบแล้วว่าไม่เพิ่ม คนและเพิ่มเงินและสถานที่ แต่ รมว.ศธ. กลับไม่ลงนามอ้างว่าต้องรอโครงสร้าง ศธ.
นายณัฏฐพล กล่าวว่า ตนต้องแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ก่อนว่าการปรับโครงสร้างศธ.ในภูมิภาคต้องการมุ่งยกระดับคุณภาพการศึกษาลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนและงบประมาณที่ไม่จำเป็น ดังนั้นในตอนนี้การปรับปรุงโครงสร้างศธ.ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ตนเข้าใจว่าทุกคนมีความอึดอัดใจในการทำงาน แต่เรื่องนี้เราต้องวางแผนวิเคราะห์กันอย่างรอบด้านดูความเหมาะสมว่ารูปแบบการจัดการศึกษาในพื้นที่แบบไหนจะเป็นทิศทางที่ดีที่สุด ดังนั้นขอให้ทุกคนมองเรื่องยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นหลักทั้งการสร้างเด็กในยุคดิจิทัล การยกระดับภาษาอังกฤษ การพัฒนาครูในโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่จะเปลี่ยนแปลงแบบไหนก็อยากให้ทุกคนมาช่วยกันกับตนในการขับเคลื่อน
นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ทุกคนต้องมุ่งแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษา และพร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นไปพร้อมกัน ดังนั้นขออย่าให้ใช้เด็กเป็นตัวประกันในเรื่องนี้
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2562