วันนี้ (29 ตุลาคม 2562) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีประเด็น เรื่อง รายงานผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ. เรื่อง การพัฒนาระบบการสอบวัดความรู้ ความสามารถทั่วไปให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบ ดังนี้
- รับทราบการพัฒนาระบบการสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไปให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
- ให้ สำนักงาน ก.พ. หารือร่วมกับองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงความจำเป็น เหมาะสม และความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามประเด็นต่าง ๆ ให้ได้ข้อยุติก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปในประเด็น ดังนี้ (1) การนำหลักสูตรการสอบและเกณฑ์การตัดสินการสอบผ่านการสอบภาค ก. ตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ. ไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการสอบและการตัดสินการสอบผ่านฯ ของหน่วยงานตนเอง เพื่อให้แนวทางในการเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการเป็นมาตรฐานเดียวกัน และ (2) การนำหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการสอบภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ. ไปใช้แทนผลการสอบผ่านการสอบภาค ก. ของหน่วยงานตนเองได้ ทั้งนี้ ให้นำความเห็นและข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาร่วมด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการของสำนักงาน ก.พ. เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (การสอบภาค ก.) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ทั้งนี้ สามารถสรุปผลการดำเนินการ รวมทั้งหลักสูตรและเกณฑ์การตัดสินการสอบผ่านการสอบภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ. ได้ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
รูปแบบการดำเนินการจัดการสอบภาค ก.
|
- การดำเนินการสอบภาค ก. ประจำปีงบประมาณ จะเปิดรับสมัครสอบช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคมและดำเนินการจัดสอบในเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคมตามศูนย์สอบทั่วประเทศทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
- การดำเนินการสอบภาค ก. ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะเปิดรับสมัครสอบเฉพาะระดับปริญญาตรีและปริญญาโทตลอดทั้งปี โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2561 มีจำนวนผู้สมัครสอบรวมทั้งสิ้น 3,840 คน มีผู้มาสอบ 3,059 คน มีผู้สอบผ่าน จำนวน 367 คน คิดเป็นร้อยละ 12 ของผู้เข้าสอบ
- การดำเนินการสอบภาค ก. สำหรับส่วนราชการ เป็นการจัดสอบภาค ก. ให้แก่ผู้สอบที่สอบผ่านการสอบภาค ข. หรือการสอบภาค ค. เพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการของส่วนราชการต่าง ๆ
- หลักสูตรและเกณฑ์การตัดสินการสอบผ่านการสอบภาค ก.
หลักสูตรการสอบภาค ก. |
เกณฑ์การตัดสินการสอบผ่านการสอบภาค ก. |
- วิชาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ได้แก่
(1) การวิเคราะห์เชิงภาษา เช่น การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ความเข้าใจในการอ่านภาษาไทย
(2) การวิเคราะห์เชิงนามธรรม เช่น การคิดหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงคำ การหาข้อสรุปอย่างสมเหตุสมผลจากข้อความ สัญลักษณ์ และ (3) การคิดวิเคราะห์เชิงปริมาณ เช่น การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เบื้องต้น
- วิชาภาษาอังกฤษ
- วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี |
- ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ในระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและปริญญาตรีและไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 ในระดับปริญญาโท
- ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในทุกระดับ/ใช้ผลคะแนนภาษาอังกฤษอื่นแทนได้
- ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ในทุกระดับ |
|
สถิติจำนวนผู้สมัครสอบและผู้สอบผ่าน |
การดำเนินการสอบภาค ก. ที่สำนักงาน ก.พ. เป็นผู้ดำเนินการจัดสอบทั้งหมดในแต่ละปีจะมีผู้สมัครสอบจำนวนประมาณ 500,000 – 600,000 คน โดยจากข้อมูลสถิติผู้สอบผ่านการสอบภาค ก. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 - 2561 พบว่า มีผู้มีที่ได้รับหนังสือรับรองผลการสอบผ่านทั้งหมด จำนวน 572,860 คน แบ่งเป็น
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 16,852 คน
- ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) / ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.)/อนุปริญญา จำนวน 86,842 คน
- ระดับปริญญาตรี จำนวน 446,666 คน
- ระดับปริญญาโท จำนวน 22,500 คน
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงสำนักงาน ก.ก. ได้ทำความตกลงร่วมกับสำนักงาน ก.พ. ในการนำหนังสือรับรองผลการสอบผ่านการสอบภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ. ไปใช้ในการสมัครสอบภาค ข. ของหน่วยงานด้วยแล้ว |
แนวทางการใช้หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน การสอบภาค ก. |
ผู้ที่สอบผ่านการสอบภาค ก. จะได้รับหนังสือรับรองผลการสอบผ่าน โดยผู้สอบผ่านสามารถนำหนังสือรับรองผลฯ ไปใช้ในขั้นตอนของการสอบภาค ข. และการสอบภาค ค. ซึ่งดำเนินการโดยส่วนราชการต่อไป |
ประโยชน์ |
การนำหนังสือรับรองผลฯ ไปใช้กับหน่วยงานรัฐประเภทอื่นจะสามารถทำให้ประหยัดงบประมาณในการดำเนินการสอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ไม่ต้องสอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไปหลายครั้ง |
ที่มา สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2562