นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้แทนสำนักงาน ก.ค.ศ./สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน/สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ไปเป็น กศจ. จังหวัดต่างๆโดยบางส่วนราชการต้องมีการเปลี่ยนแปลงถึง 3 ครั้ง ส่วนราชการอื่นๆ เปลี่ยนแปลงตัวบุคคลอย่างน้อย 2 ครั้ง ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าวเห็นว่า
1. มีบุคคลต่างๆแย่งชิงกันเข้ามาเป็น กศจ.โดยอาศัยอำนาจของนักการเมืองวิ่งเต้นเข้ามาเพื่อเป็น กศจ. หรืออาศัยบุญคุณหรือความสัมพันธ์ส่วนตัวบีบบังคับจูงใจให้ผู้มีอำนาจของแต่ละส่วนราชการส่งชื่อตัวเองไปเป็น กศจ.จังหวัดต่างๆ การวิ่งเต้นแย่งชิงที่จะเป็น กศจ.นั้นมีถึงขั้นใช้พลังและอำนาจที่เหนือกว่าแย่งชิงเก้าอี้ที่เคยเป็นของผู้มีความรู้ความสามารถเหมาะสมต้องหลุดกระเด็นไป ในที่สุดผู้มีพลังที่น้อยกว่าก็ต้องพ่ายแพ้ไป นับเป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง
2. การที่ เก้าอี้ กศจ.เป็นเก้าอี้ที่มีแต่คนแย่งชิงกันนั้นก็เนื่องจากเป็นเก้าอี้ที่มีอำนาจมีผลประโยชน์มากมายมหาศาลโดย เฉพาะอย่างยิ่งผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายทั้งครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ผู้กำหนดหลักเกณฑ์จากส่วนกลางบางรายได้ใช้พลังอำนาจของตนเองกำหนดหลักเกณฑ์ให้หลวมๆเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ กศจ.บางรายได้แทะโลมผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้ายที่มีมูลค่ารายละหลายแสนบาท หากตรวจสอบให้ดีจะพบว่าบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการร่างหลักเกณฑ์บางรายเป็น กศจ.อยู่ด้วย
3. หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการความจริง ก็น่าที่จะเรียกหัวหน้าส่วนราชการที่เสนอชื่อ ผู้แทนส่วนราชการ ไปเป็น กศจ. จังหวัดต่างๆ ขอทราบเหตุผลว่าทำไมถึงเสนอชื่อบุคคลรายนั้นรายนี้ ไปเป็น กศจ. จังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะการเสนอชื่อบุคคลที่อยู่นอกวงการศึกษา แล้วจะทราบความจริงว่า "ใครฝากมา"
4. ขอชื่นชมเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ที่กล้าหาญตัดสินใจแต่งตั้งบรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ไปเป็น กศจ.ทุกจังหวัด ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด และเป็นการแก้ปัญหาในเบื้องต้นในเรื่องความเหมาะสมขององค์คณะและแก้ปัญหาความขัดแย้งของศึกษาธิการจังหวัดกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
5. ขอเสนอแนะ รมว.ศธ. ให้ ตัดอำนาจ กศจ. ในเรื่องการบริหารงานบุคคลออกไปโดยให้ทำหน้าที่บริหารและบูรณาการงานด้านการศึกษาอย่างเดียว แล้วจะพบว่าการวิ่งเต้นเพื่อเป็น กศจ. จะหายไป และจะพบว่า กศจ.ที่แต่งตั้งครั้งนี้จะเข้าประชุมไม่ครบองค์ประชุม เพราะไม่มีผลประโยชน์ให้ไขว่คว้า
6. ในอดีต นั้น การบริหารการศึกษา มี ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้นำด้านการจัดการศึกษา มี อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่ด้านการบริหารงานบุคคล โดย อ.ก.ค.ศ.มาจากบรรดาผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษา หลายองค์ประกอบมาจากการเลือกตั้งของข้าราชการครูซึ่งย่อมหมายถึงการเลือกคนที่มีความเหมาะสมไว้วางใจได้ และเชื่อว่าจะไม่ทุจริตคดโกงไปทำหน้าที่ ต่อมารัฐบาล คสช. กล่าวอ้าง ลอยๆว่า อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ทุจริตในเรื่องการบริหารงานบุคคล จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลด อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ทั้งประเทศ และให้ดำเนินการตามกฎหมายกับ อ.ก.ค.ศ.ผู้ทุจริต แต่ผลปรากฎว่าบัดนี้เวลาล่วงเลยมาเป็นเวลามากกว่า 5 ปี ก็ยังไม่สามารถหาคนทุจริตมาได้เเม้แต่คนเดียว คำกล่าวอ้างของ คสช. จึงเป็นคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยขาดเหตุผล
7. การปลด อ.ค.ค.ศ. แล้วตั้งให้มี กศจ.โดย กศจ. ทุกรายล้วนตั้งมาจากผู้มีอำนาจจากส่วนกลาง และก็มีการวิ่งเต้นกันไปเป็น กศจ. แม้แต่ ผู้ทรงคุณวุฒิใน ก.ค.ศ.บางรายก็ยังไปทำหน้าที่เป็น กศจ. แสดงให้เห็นถึงกลิ่นอายของอำนาจมันหอมหวนจนลืมมองไปว่าตนเองนั้นทำหน้าที่ทั้งบอร์ดใหญ่และบอร์ดเล็กจึงมีสภาพร้ายแรงดังที่ได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
8. คำกล่าวอ้างของ รัฐบาล คสช. ที่อ้างว่า มี กศจ. เพื่อวางระบบคุณภาพการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพรวมถึงทำให้ระบบการบริหารงานบุคคลมีความโปร่งใสโดยไม่ให้มีครูเป็นกรรมการ กศจ นั้น เห็นได้ว่าระยะเวลาห้าปีที่มี กศจ. นั้นไม่ประสบความสำเร็จ และไม่เคยมีข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อเลยว่ามี กศจ. ใดบ้างที่ประสบความสำเร็จในเรื่องการบริหารคุณภาพการศึกษาของจังหวัด เกือบทุก กศจ. ล้วนแล้วแต่สนใจเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายครูและผู้บริหารสถานศึกษาและมีข้อมูลหลาย กศจ. ว่ามีการเรียกรับเงินทองเป็นค่าวิ่งเต้นโยกย้าย
9. การไม่ให้ครูทำหน้าที่เป็นผู้แทนใน กศจ. ส่งผลให้ กศจ. ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการศึกษา ไม่ทราบข้อมูลปูมหลังของข้าราชการครูที่จะให้มีการแต่งตั้งโยกย้าย ทำให้การทำงานสะเปะสะปะ ลองผิดลองถูก ไม่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญคือรัฐบาลเห็นครูเป็นอะไร เห็นครูเป็นผู้ต่ำต้อยด้อยความรู้จนถึงขั้นต้องเอาบุคคลอาชีพอื่นมาปกครองครู เป็นการหมิ่นเกียรติหมิ่นศักดิ์ศรีของครูที่น่าเสียใจมาก การเอาผู้ที่ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องการจัดการศึกษามาบริหารจัดการศึกษานั้นเป็นตรรกะที่ย้อนแย้งและไร้เหตุผล ทำให้เกิดความเสียหาย ความแตกแยกมานานมากกว่า 5 ปี
10. บรรดาข้าราชการหน่วยงานอื่นที่มีสำนักงานในแต่ละจังหวัดเช่น สรรพากร/สรรพสามิต/ประมง/แรงงาน/โยธาจังหวัด/อุตสาหกรรม/พาณิชย์ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ปกครองกันตามลำดับการบังคับบัญชา ไม่ต้องมีบุคคลอาชีพอื่นมาร่วมวงไพบูลย์ ในเรื่องการบริหารจัดการทั้งด้านวิชาชีพและด้านการบริหารงานบุคคล ส่งผลให้หน่วยงานต่างๆเหล่านั้นล้วนมีผลงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากงานด้านการศึกษาที่มีแต่จะด้อยคุณภาพลงทุกวันเนื่องจากการวางระบบที่ผิดพลาด
11. จากข้อมูลข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรให้ครูบริหารจัดการกันเอง โดยไม่ต้องมีบุคคลากรภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องบังคับบัญชา รัฐควรวางระบบการบริหารงานบุคคลให้ดีไม่เปิดโอกาสให้มีการทุจริต หากทำเช่นนี้แล้วจะพบว่าการศึกษาจะดีขึ้น เพราะคุณครูหรือบุคคลากรวิชาชีพครูล้วนสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรีมีสติปัญญามากพอที่จะจัดการกันเองและทำให้การศึกษาดีขึ้นแน่นอนเนื่องจากรักในอาชีพนี้ !
ขอบคุณข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย(ส.บ.ม.ท.)