นายรัชชัยย์ ศรสุวรรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) เปิดเผยว่าตามที่ได้มีการลงนามแต่งตั้ง กศจ.ครบทุกจังหวัดแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2562 นั้น ตนมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวดังนี้กล่าวคือก่อนหน้านี้เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2562 ส่วนราชการต่างๆเช่น สำนักงาน ก.ค.ศ./สพฐ./สช. ฯลฯ ต่างก็ได้เสนอชื่อบุคคลเพื่อทำหน้าที่ กศจ. ในฐานะผู้แทนส่วนราชการนั้นๆให้ทำหน้าที่ กศจ. ในทุกจังหวัดไว้แล้ว รอเพียงให้ได้มาซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิ การเสนอชื่อดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือลงนามโดยหัวหน้าส่วนราชการและได้มีการเผยแพร่ตามสื่อต่างๆทั่วไป โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจำนวน 61 คน อดีตผู้แทนครูใน ก.ค.ศ.อีกหลายคน รวมถึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกหลายคน บุคคลเหล่านี้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในการทำหน้าที่เป็น กศจ. เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการจัดการศึกษาและการบริหารงานบุคคลด้านการศึกษามาโดยตลอด แต่เมื่อมีการลงนามประกาศแต่งตั้งกลับมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อโดยตัดรายชื่อผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตัดรายชื่ออดีตผู้แทนครูใน ก.ค.ศ. ตัดรายชื่อผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านการศึกษาออกไปเกือบหมด แล้วไปแต่งตั้งบุคคลภายนอกที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรครัฐบาลแล้วสอบตกให้มาบริหารการศึกษา ไปแต่งตั้งบุคคลใน อบจ. ให้มาบริหารการศึกษา ไปแต่งตั้งพ่อค้าให้มาบริหารการศึกษา ไปแต่งตั้งผู้ประกอบกิจการคาร์แคร์ ให้มาบริหารการศึกษา นอกจากนี้ยังได้รับแจ้งว่าบางจังหวัดก็มีการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้มาจากการเสนอชื่อจากจังหวัด ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องทบทวนว่าผิดกฎหมายหรือไม่ จึงมีคำถามที่ รมว.ศธ. ต้องตอบประชาชนให้ได้ว่า
1. ที่ รมว.ศธ. ประกาศตลอดเวลาว่าจะยึดหลักธรรมภิบาล ในการบริหารจัดการศึกษาของประเทศนั้น ท่านยังคงยึดหลักการนี้หรือไม่
2. การที่กฎหมายกำหนดให้มีผู้แทนส่วนราชการไปทำหน้าที่ กศจ. ทุกจังหวัดนั้นก็ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้ส่วนราชการได้ส่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการนั้นๆเช่น ผู้แทนจากสำนักงาน ก.ค.ศ. ก็มุ่งหวังให้ส่งผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย กฎระเบียบ หรือ ผู้แทนจาก สพฐ. ก็คงมุ่งหวังให้ส่งผู้แทนที่มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาหลักสูตร การวัดการประเมินผล ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ก็คงมุ่งหวังให้มีการส่งบุคคลที่เป็นผู้มีความรู้ด้านการจัดการศึกษาของเอกชนไปบูรณาการกับการจัดการศึกษาของรัฐเป็นต้น แต่การลงนามแต่งตั้งตัวแทนของส่วนราชการไปเป็น กศจ. ในจังหวัดต่างๆมีดังนี้
2.1 ผู้ที่สำนักงาน ก.ค.ศ. เสนอชื่อและได้รับ แต่งตั้งเป็น กศจ. พังงา คือหัวหน้าอุทยานอ่าวพังงาและนามสกุลเดียวกับ นักการเมืองของจังหวัดพังงา
2.2 ผู้ที่ส่วนราชการแห่งหนึ่งเสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.สุโขทัย คือผู้ที่เป็นเจ้าของร้านคาร์แคร์
2.3 ผู้ที่ส่วนราชการแห่งหนึ่งเสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.สุรินทร์ ที่จังหวัดสุรินทร์ คือ สมาชิก อบจ. สุรินทร์
2.4 ผู้ที่ส่วนราชการเสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.ร้อยเอ็ด มี สองรายและเป็นพี่น้องกัน
2.5 ผู้ที่ส่วนราชการแห่งหนึ่งเสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ. อุบลราชธานี เป็นสมาชิก อบจ.อุบลราชธานี
2.6 ผู้ที่ สพฐ.เสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.ยโสธร คือ รองนายก อบจ.ยโสธร
2.7 ผู้ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนเสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.ยโสธรคือ ผู้สมัคร ส.ส.ที่ไม่ได้รับเลือกตั้ง
2.8 ผู้ที่ส่วนราชการแห่งหนึ่งเสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.มหาสารคาม คือผู้ที่เป็นสมาชิก อบจ.มหาสารคาม
2.9 ผู้ที่ สพฐ.เสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.พิจิตร คืออาจารย์มหาวิทยาลัย
2.10 ผู้ที่ สพฐ.เสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.เชียงใหม่ คือ รองประธานสภา อบต.แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่
2.11 ผู้ที่ สพฐ. เสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.สงขลา คือ ผอ.วิทยาลัยชุมชน จังหวัดสงขลา
2.12 ผู้ที่ สพฐ. เสนอชื่อและได้รับการแต่งตั้งเป็น กศจ.สตูล คือ ผอ.วิทยาลัยชุมชน จังหวัดสตูล
2.13 กศจ.มหาสารคาม คือ หอการค้าจังหวัดมหาสารคาม
2.14 ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น กศจ.สุรินทร์ และ กศจ.บุรีรัมย์ เป็นบุคคลคนเดียวกัน
3.การเปลี่ยนแปลงตัวผู้แทนส่วนราชการให้ไปทำหน้าที่ กศจ. ต่างๆทั้งๆที่รายชื่อเดิมล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ไปเป็นบุคคลอื่นที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการศึกษาเลยนั้น รมว.ศธ. ต้องตอบสังคมให้ได้ว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อไว้เดิมนั้น มีความบกพร่องอย่างไร มีความด้อยทางการจัดการศึกษาอย่างไร ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งทดเแทนผู้ที่ถูกถอดถอนรายชื่อออกนั้น มีอะไรที่ดีกว่า ทั้งในด้านความรู้ความสามารถและประสบการณ์ การเปลี่ยนแปลงรายชื่อนั้นเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่
การบริหารจัดการศึกษาในจังหวัดและในเขตพื้นที่นั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติจึงต้องอาศัยผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถและมีความเข้าใจ ในเรื่องการจัดการศึกษา ไม่ใช่เรื่องของนโยบายที่จะเอาพ่อค้าหรือนักธุรกิจนักการเมือง หรือบุคคลทั่วไปมาบริหารก็ได้
4.รมว.ศธ. รู้หรือทราบมาก่อนหรือไม่ว่า ส่วนราชการต่างๆมีรายชื่ออยู่เดิมที่จะเสนอให้ รมว.ศธ. แต่งตั้ง แต่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่รู้มาก่อนก็แสดงว่าเกิดพฤติกรรมการ "ยัดไส้" แต่ถ้ารู้มาก่อน และ รมว.ศธ. เห็นชอบตามรายชื่อที่เสนอมาใหม่ ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่า เปลี่ยนทำไม ยึดหลักธรรมาภิบาลในการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
5 ส่วนราชการกระทรวงอื่นๆที่มีที่ตั้งหน่วยงานในแต่ละจังหวัดนั้น มีการบริหารจัดการในเรื่องของภาระงานและการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัดนั้นอย่างไร เช่น ตำรวจ/สรรพากร/สรรพสามิต/ประมง/แรงงาน/อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยเอง นั้นหน่วยงานเหล่านี้ทำเหมือนกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ และผลสัมฤทธิของงานของหน่วยงานอื่นๆในแต่ละจังหวัดประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ละหน่วยงานที่มีที่ตั้งในจังหวัดนั้นบริหารจัดการด้วยบุคคลากรในวิชาชีพของตนเองหรือไม่ หรือความสำเร็จของหน่วยงานในจังหวัดต่างๆล้วนเกิดจากการบริหารจัดการของบุคคลากรต่างอาชีพ เช่นพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง
ขณะนี้ทราบว่าบรรดาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีชื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนส่วนราชการใน กศจ. จะยื่นใบลาออกจากการเป็น กศจ. ทั้งหมด เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้มีอำนาจในกระทรวงศึกษาธิการได้ทราบว่าหลักธรรมภิบาลกำลังถูกละเลย นอกจากนี้หาก รมว.ศธ. ไม่ตอบคำถามเหล่านี้หรือไม่อธิบายสังคมให้เข้าใจ ก็คงยากที่จะทำให้สังคมเชื่อถือได้ว่ามีการบริหารจัดการศึกษาด้วยหลักธรรมาภิบาล
"ผมขอเรียกร้องไปยัง รมว.ศธ ว่า การบริหารจัดการศึกษาในระดับเขตพื้นที่หรือระดับจังหวัดนั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติ ขอให้ข้าราชการของกรมที่เป็นต้นสังกัดได้บริหารจัดการกันเองเถอะครับ ทำเหมือนกรมสรรพากร/กรมสรรพสามิต/กรมอุตสาหกรรม และอื่นๆอีกหลายกรมที่ประสบความสำเร็จเพราะบริหารกันเอง ไม่ได้ให้บุคคลภายนอกมาบริหาร และขอแนะนำไปยังกรมต่างๆที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วยว่าอย่าทำอย่างกระทรวงศึกษาธิการ เพราะมิฉะนั้นจะประสบความล้มเหลวที่ยากแก่การเยียวยา" นายรัชชัยย์ ฯ กล่าวในที่สุด
ข้อมูลจาก นายรัชชัยย์ ศรสุวรรรณ นายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.)