"อำนาจ"แบ่งงานให้3รองเลขาธิการ กพฐ.
เลขาธิการ กพฐ.คนใหม่ ย้ำนโยบายกระจายอำนาจให้โรงเรียน แบ่งงานให้ 3 รองเลขาธิการ กพฐ. เตรียมชง ก.ค.ศ.จัดสอบออนไลน์สแกนทักษะ ก่อนเข้าสอบเป็นผู้บริหารสถานศึกษา-ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่ ตามเกณฑ์ ก.ค.ศ.
วันนี้ (9 ต.ค.) นายอำนาจ วิชยานุวัติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ตนได้ชี้แจงนโยบายการทำงานของตนในการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ใช้ผู้เรียนเป็นตัวประกัน การทำงานเป็นทีมต้องเข้มแข็ง ทำงานคนเดียวไม่ได้ พร้อมย้ำนโยบายที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งได้มอบหลักการให้กล้าคิด กล้าเสนอ กล้าเปลี่ยนแปลง ร่วมมือร่วมใจ ทำงานให้หนัก เรียบง่าย ลดงานพิธีการต่าง ๆ อะไรที่รกรุงรังให้ตัดออก รวมถึงนโยบายการรัดเข็มขัด งดการจัดอีเว้นท์ การเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ซึ่งแม้จะมีหน่วยงานอื่นเชิญมาพร้อมจัดงบให้ด้วย ตนก็ต้องขอดูเช่นกัน เพราะเป็นการใช้เวลาราชการในการเดินทางไป
นายอำนาจ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ได้มีการแบ่งงานให้กับผู้บริหาร สพฐ. โดยในส่วนรองเลขาธิการ กพฐ. ทั้ง 3 คน ดังนี้
- นายอัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. ดูการบริหารงานบุคคลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง โยกย้าย วินัย และการพัฒนาครู
- นายพีระ รัตนวิจิตร ดูเรื่องวิชาการทั้งหมด และ
- นายสนิท แย้มเกษร ดูเรื่องอำนวยการ การคลัง และเทคโนโลยี
- ส่วนผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ซึ่งมีอยู่ 5 คน ให้กำกับงานพื้นที่ แยกเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคภาคใต้ และสามจังหวัดชายแดนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ซึ่งในการทำงานทุกคนจะต้องรับผิดรับชอบ ไม่ใช่เดินแกว่งไปมาแล้วรับความชอบอย่างเดียว
"การทำงานจะเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จะกระจายอำนาจให้โรงเรียนมีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการ ให้ครู และ ผู้บริหารโรงเรียนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการศึกษา สพฐ. จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนจะต้องรับผิดและรับชอบด้วย" นายอำนาจ กล่าวและว่า ผู้บริหารโรงเรียนในยุคนี้จะต้องเก่งและมีความสามารถ โดยตนรับนโยบายจากรมว.ศึกษาธิการ มาว่าจะต้องมีกระบวนการในการสรรหาผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งเบื้องต้นมีแนวคิดว่า ต้องมีการคัดกรองคนว่าจะเป็นผู้บริหารได้หรือไม่ โดยใช้ข้อสอบออนไลน์ เพื่อสแกนทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องดิจิทัล ภาษอังกฤษ และองค์ความรู้เรื่องการบริหารการศึกษา การบริหารสถานศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามการคัดกรองเพื่อสกรีนคุณสมบัติดังกล่าวต้องหารือกับคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ก่อนว่า การทดสอบออนไลน์ จะ เป็นการลิดรอนและสกัดกั้นสิทธิเบื้องต้น ของผู้ที่ต้องการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้บริหารของ ก.ค.ศ. หรือไม่ ซึ่งหากสามารถทำได้ ก็จะใช้ในการคัดเลือกผู้บริหาร ทั้ง ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรองผู้อำนวยการ สพท. ด้วย.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562