12 ปีเป็นระยะเวลาการเดินทางของงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จและก้าวมาเป็น “ผู้นำ” ของงานด้านการศึกษาระดับประเทศ ด้วยการตอบรับอย่างดีจากครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่งผลให้จำนวนผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นทุกปี จากจุดเริ่มต้น 6,000 – 7,000 ที่นั่ง ขยับมาเป็นปีละไม่ต่ำกว่า 30,000 ที่นั่ง และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) กล่าวว่า EDUCA เป็นเหมือนพื้นที่เชื่อมโยงองค์ความรู้ระดับประเทศและระดับโลกให้กับครู เพื่อให้ครูได้นำไปต่อยอดในห้องเรียนของตัวเอง ทำให้การเรียนรู้มีความหมายมากขึ้น โดยครูสามารถเลือกการเวิร์คชอปได้ตามที่ตัวเองสนใจ ซึ่งมีความหลากหลายของหัวข้อที่แบ่งตามระดับชั้นเรียน และกลุ่มสาระการเรียนรู้ รวมถึงกลุ่มผู้บริหารที่มีฟอรั่มครูใหญ่ (Principal Forum) โดยเฉพาะ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่างาน EDUCA ร่วมพัฒนากลุ่ม Change Agent ของระบบการศึกษา ทั้งครู ครูใหญ่ และคณาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์
“ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ปิโกได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทยหลายด้าน เห็นได้ชัดเจนจากผู้เข้าร่วมงานอย่างกลุ่มครูที่กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ทุกปี เพื่อนำองค์ความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาเด็กและห้องเรียน ขณะที่ครูใหญ่ก็รู้ว่าหน้าที่ของเขามีมากกว่าการบริหารโรงเรียน คือต้องมองครอบคลุมไปถึงมิติอื่นๆ ในการเรียนรู้ของนักเรียนและครูด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น มีการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้อำนวยการผู้นำ หรือ Thailand Principal Forum โดยเป็นการรวมตัวกันของ 200 โรงเรียนที่มาจากหลายสังกัด และเป็นเครือข่ายระดับผู้นำโรงเรียนที่ร่วมกันขับเคลื่อนโรงเรียนด้วยกัน เหล่านี้เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยในระยะยาว”
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับงาน EDUCA ปิโกได้ต่อยอดมาจัดงาน EDUCA พลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นเครือข่ายด้านการศึกษา (Education Networking) ครั้งแรกของประเทศไทยที่มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา ได้แก่ ครู อาจารย์ และนักการศึกษาไทยกว่า 100 ท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด และประสบการณ์ด้านการศึกษาและวิชาชีพครู อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของคนที่ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาไทย และทำงานกับ EDUCA มาอย่างต่อเนื่อง 12 ปี
อ.พูลศักดิ์ เทศนิยมอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) ซึ่งร่วมงาน EDUCAตั้งแต่ปีแรก กล่าวว่า งาน EDUCA เป็นเหมือนสื่อกลางที่ให้ครูได้นำเสนอความสำเร็จผ่านผลงานและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เพื่อนครูได้นำไปเสริมการสอนในห้องเรียนและวิชาชีพของตัวเองเพิ่มเติม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ และสร้างห้องเรียนแห่งอนาคต ซึ่งบางตัวอย่างไม่สามารถหาได้จากหนังสือ แต่ต้องมารับฟังประสบการณ์ตรงด้วยตัวเอง
“ผมมองว่างาน EDUCA ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูไทยซึ่งเป็นตัวหลักสำคัญในการพัฒนาการศึกษา เพราะเมื่อพวกเขาได้เห็นว่าการศึกษาโลกกำลังเปลี่ยนแปลง และบางโรงเรียนมีพัฒนาการสอนที่น่าสนใจ ก็จะไปกระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ตัวเองต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง ซึ่งงาน EDUCA ทำให้ครูไทยได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และช่วยเสริมศักยภาพครูไทยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้พวกเขากล้าคิดและริเริ่มนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวไกลกว่าเดิม”
ด้านครูรุ่นใหม่ที่เคยร่วมงานกับ EDUCA ทั้งในฐานะผู้เข้าร่วมงานและวิทยากรอย่าง ครูมะนาว – ศุภวัจน์ พรมตัน ครูโรงเรียนนครวิทยาคม จังหวัดเชียงราย บอกว่า การมางาน EDUCA ทำให้ผมได้เจอกับไอเดียเจ๋งๆ ทั้งงานวิจัยและกรณีศึกษาที่เป็นตัวอย่างสำหรับนำไปปรับใช้ในห้องเรียน เช่น เทคนิคการพูดเชิงบวกกับเด็ก หรือการสร้างห้องเรียนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้เรียน ที่สำคัญคือได้เจอคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน แล้วได้แลกเปลี่ยนมุมคิดกันจนเกิดเป็นเครือข่าย ซึ่งนี่เป็นเสน่ห์ของงาน EDUCA ที่ครูไม่ควรพลาด
“EDUCA ยังเป็นต้นแบบการจัดอบรมที่ให้ครูได้เลือกความรู้ที่ตัวเองสนใจ เราจะเห็นว่าครูไทยพร้อมพัฒนาตัวเอง แต่ต้องมีหัวข้อที่เขาต้องการด้วย เพราะในแต่ละชั้นเรียน ครูจะเจอเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน โดยงานอื่นๆ ไม่ได้มีหัวข้อให้เลือกเยอะเท่าไร หรือเป็นหัวข้อที่วางมาแล้วว่าครูต้องเรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งบางหัวข้อครูก็รู้เรื่องอยู่แล้ว และไม่ใช่สิ่งที่เจอในการสอนของเขา กลับกันกับงาน EDUCA ที่มีหัวข้อให้เลือกเยอะมาก สามารถตอบสนองความต้องการเรียนรู้ที่หลากหลายของครูได้”
ทั้งนั้น นายศีลชัย ได้กล่าวปิดท้ายถึงทิศทางต่อไปของปิโกว่า ต้องการก้าวสู่การเป็น Education Communication โดยที่ผ่านมาได้นำจุดแข็งและศักยภาพขององค์กรด้านการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาไทยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเว็ปไซต์ เฟซบุ๊ค ไลน์ ทวิตเตอร์ของEDUCA รวมถึงได้ร่วมสร้างสรรค์งานที่เกี่ยวข้องให้กับภาครัฐ เช่น งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหิดลแชนแนล และพิพิธภัณฑ์พระราม 9 เป็นต้น สำหรับ EDUCA ปิโกเป็นทั้งผู้ค้นคว้า พัฒนาคอนเทนท์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาสื่อเป็นของตัวเอง และกำลังวางแผนสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ อีกในอนาคต เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาไทยให้ได้มากที่สุด