การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน กับ การฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา : เจตนารมณ์ ข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงและสิ่งที่ได้รับ
จากการที่พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๔ กำหนดว่าผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพควบคุม ต้องผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากําหนด นั้น คุรุสภาซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพและออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบวิชาชีพ จึงได้ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าใบอนุญาตประกอบวิชา ชีพ พ.ศ. ๒๕๔๗ และข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้สอดรับตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยกำหนดเงื่อนไขด้านมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ว่าต้องมีคุณสมบัติ (๑) การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน (๒) การปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ ถึงแม้จะมีการออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพครูมาแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ แต่ก็มิได้มีการแก้ไขในคุณสมบัติ ๒ ข้อดังกล่าวข้างต้น เป็นการยืนยันว่ามาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพต้องมีทั้งการฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนและปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ ซึ่งหมายถึงสาขาวิชาเอกของนักศึกษาแต่ละคน เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา
ภาษาอังกฤษ เป็นต้น
ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี สาขาครุศาสตร์และสาขาศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรสี่ปี) พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้จัดทำมาตรฐานคุณวุฒิสาขาหรือสาขาวิชา เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษา นำไปจัดทำหลักสูตรหรือปรับปรุงหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนให้คุณภาพของบัณฑิต มีมาตรฐานใกล้เคียงกันและสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๒ ภายใต้แนวคิดที่ต้องเป็นหลักสูตรบูรณาการ และอิงสมรรถนะมากกว่าหลักสูตรอิงเนื้อหา เน้นสมรรถนะการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้เรียน มีการกำหนดคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ มาตรฐานผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ให้โครงสร้างหลักสูตรมีความยืดหยุ่น สถาบันผลิตครูมีอิสระในการสร้างหลักสูตรผลิตครูที่เหมาะสมกับอัตลักษณ์และสภาพบริบทเชิงพื้นที่ของสถานศึกษา สะท้อนอัตลักษณ์ของผู้เรียน รวมทั้งความต้องการของผู้เรียน ให้ครอบคลุมทั้งการเตรียมความพร้อมและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนประจำการ การพัฒนาครูประจำการและนอกประจำการ
ในหลักสูตรวิชาชีพครู (มคอ. ๑) กำหนดโครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย ๓ หมวดวิชา ได้แก่ ๑) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป เรียนไม่น้อยกว่า ๓๐ หน่วยกิต ๒) หมวดวิชาเฉพาะด้าน (ไม่น้อยกว่า ๓๔ หน่วยกิต) ประกอบด้วยวิชาชีพครูที่เรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไม่น้อยกว่า ๒๒ หน่วยกิต และปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๒ หน่วยกิต และรายวิชาเอกของแต่ละสาขาไม่น้อยกว่า ๖๐-๘๐ หน่วยกิต ขึ้นอยู่กับว่าเป็นหลักสูตรวิชาเอกเดี่ยว เอกคู่ หรือวิชาเอก-โท และ ๓) หมวดวิชาเลือกเสรี อีกไม่น้อยกว่า ๖ หน่วยกิต ซึ่งในหมวดวิชาเฉพาะด้านจะประกอบด้วยวิชาชีพครูที่กำหนดมาตรฐานความรู้ของผู้เรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจในแนวคิดปรัชญาศึกษา จิตวิทยาการศึกษา ค่านิยม อุดมการณ์ และจิตวิญญาณความเป็นครู คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพครู หลักสูตรและวิทยาการ การจัดการเรียนรู้ ความรู้ตามกรอบ TPCK แนวคิด STEM ความรอบรู้ด้านดิจิทัล การวัดและประเมินการศึกษา ทักษะการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนและการเรียนรู้สามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูมาใช้ในการออกแบบหลักสูตรรายวิชา กิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสมกับลักษณะธรรมชาติและสภาพบริบทของผู้เรียนที่แตกต่างกัน เน้นที่ต้องเรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ นั่นหมายความว่า แต่ละรายวิชาที่สถาบันการศึกษากำหนดให้เรียนในหมวดวิชาชีพครู ต้องมีการฝึกปฏิบัติในระหว่างเรียนของแต่ละวิชาสอดคล้องกับมาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพของคุรุสภา ว่าต้องมีการฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน แยกออกจากการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี
ดังนั้น การที่จะนับรวมเวลาของการฝึกปฏิบัติระหว่างเรียนกับการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา มิน่าจะตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายทั้งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ และข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพที่ออกมาบังคับใช้ ในข้อเท็จจริงการที่กฎหมายกำหนดให้ผู้เรียน(นักศึกษาครู) ได้มีการฝึกปฏิบัติระหว่างเรียนก่อนก็เพื่อเป็นการให้ได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริงหลังจากที่ได้เรียนภาคทฤษฎีแล้วภายใต้การสอน และการให้คำแนะนำของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งจะทำให้มีความรู้ ความเข้าใจอย่างแท้จริง และที่สำคัญผู้เรียนเกิดทักษะมีสมรรถนะที่สามารถนำไปใช้ได้ในการปฏิบัติการสอนจริงในสถานศึกษาอย่างมั่นใจ เพราะได้รับการฝึกฝนหลายครั้งจากอาจารย์ผู้สอนอย่างใกล้ชิด และจากประสบการณ์การนิเทศนักศึกษาฝึกสอนหลักสูตร ๕ ปี พบว่า นักศึกษาเกือบทั้งหมดจะยังไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาตลอด ๔ ปี ไปใช้ในการปฏิบัติการสอนของตนในภาคเรียนที่ ๑ ได้อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะการนำแผนการสอนไปใช้จริงในห้องเรียน นักศึกษาจะพบปัญหามากมายในการใช้แผนการสอนที่เขียนขึ้นมาตามทฤษฎีที่ได้เรียนมา ตั้งแต่ขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน การใช้เวลาจัดกิจกรรมที่ไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้ เนื่องจากเด็กนักเรียนบางคน/กลุ่มยังทำกิจกรรมไม่เสร็จ การสอนก็ไม่บรรลุผลสำเร็จถึงขั้นสุดท้ายตามแผนการสอน ก็จะเกิดการลองผิดลองถูกไปในตัวเองแม้จะมีครูพี่เลี้ยง และอาจารย์นิเทศก์ คอยดูแลให้คำแนะนำแต่ก็ไม่ใช่ทุกชั่วโมงสอน นั่นหมายถึงต้องมีบางชั่วโมงสอนอาจจะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ผลที่ได้รับย่อมไม่เป็นผลดีกับทั้งตัวนักศึกษาฝึกสอน และนักเรียนที่ถูกสอนด้วย แต่พอเข้าสู่ภาคเรียนที่ ๒ นักศึกษาจะมีความมั่นใจในการสอนของตนเองมากขึ้น เขาสามารถที่จะเรียนรู้และปรับปรุงการเขียนแผนการสอนที่สามารถนำไปใช้จริงได้ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชั้นเรียนได้ และมีความสุขกับการสอนของตนเอง แสดงว่านักศึกษาครูสามารถปรับตัวและจัดกระบวนการเรียนการสอนของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีระยะเวลาการฝึกปฏิบัติมาก คือ ๑ ปีเต็ม หรือ ๒ ภาคเรียน
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่สถาบันผลิตนักศึกษาครู จะกำหนดให้การมอบหมายงานเพื่อให้นักศึกษาครูได้ลงไปทำกิจกรรม/โครงการต่างๆ ในสถานศึกษาและถือว่าเป็นการฝึกปฏิบัติการสอน แล้วนับชั่วโมงรวมเข้ากับการฝึกปฏิบัติการสอนจริงในสถานศึกษา เพื่อให้ครบ ๑ ปี ตามกฎหมาย น่าจะต้องพิจารณาตามเจตนารมณ์ของข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงและสิ่งที่ได้รับข้างต้น
ธีรวุธ ธาดาตันติโชค