“อรรถพล”ชี้เป็นเรื่องไม่ควรอุทธรณ์ ถือเป็นโอกาสดีชวนสถาบันการเงินจับเข่าคุยยกเครื่องแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ
ตามที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลหรือสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการหักเงินเดือน หรือเงินบำเหน็จบำนาญให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในและสหกรณ์ พ.ศ.2551 คือ เมื่อหักเงินจากการชำระหนี้แล้วต้องมีเงินเหลือ ณ ที่จ่ายไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ของอัตราเงินเดือนหรือเงินบำนาญที่ได้รับ นั้น วันนี้(27 ก.ย.)นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับคำพิพากษาของศาลปกครองกลางอย่างเป็นทางการ แต่พอทราบเรื่องแล้ว และเท่าที่ดูก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ควรอุทธรณ์ เพราะคำพิพากษานี้น่าจะเป็นผลดีกับการจัดระบบแก้ปัญหาหนี้สินครู จึงได้มอบให้ฝ่ายนิติกรเตรียมการ เพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองดังกล่าว ซึ่งศาลก็ได้ให้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะฉะนั้นยังพอมีเวลาเตรียมการอยู่ ทั้งนี้สถาบันทางการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องหันมาดูว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานตนจะต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง โดยปัญหาที่มีอยู่คือ ปัจจุบันเป็นการเบิกจ่ายตรงจากกรมบัญชีกลาง และสำนักงานผู้เบิกเงินเดือนและสำนักงานผู้เบิกบำนาญ ที่ดูแลเรื่องการหักเงินครูอยู่ เช่น ร.ร.มัธยมศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ที่จะต้องทำหน้าที่รับรองเงินคงเหลือของแต่ละบุคคล ว่า หักแล้วเหลือเงินเท่าไร ก็ต้องมาคุยกันด้วย
นายอรรถพล กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการหลังจากนี้คือ จะต้องมาจัดระเบียบวินัยทางการเงินการคลังให้มากขึ้น ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการต้องมีนโยบายให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว ทำให้กระบวนการวินัยทางการเงินการคลังมีความรัดกุมมากขึ้น โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการครู ธนาคาร สกสค. เป็นต้น จะต้องคำนึงถึงเงินคงเหลือของผู้มาขอกู้ให้มากขึ้น หากผู้มาขอกู้คำนวณแล้วมีเงินเดือนคงเหลือน้อยกว่า 30% จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง หรือต้องปลดล็อกอะไรได้บ้าง ซึ่งอาจต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็จะไปผูกพันกับผู้ค้ำประกันอีก ดังนั้นเรื่องนี้จะต้องมาดูกันทั้งระบบ
“ตามกฎหมายให้โอกาสสหกรณ์ออมทรัพย์ฯหักหนี้ได้เป็นลำดับแรก จากนั้นจึงเป็นสถาบันการเงินอื่น ๆ ตามลำดับ และหากปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จ บำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในและสหกรณ์ พ.ศ.2551 โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ หักเงินแล้วครูเหลือเงินไม่ถึง 30% สถาบันการเงินอื่นก็จะหักเงินครูไม่ได้เลย ก็จะเกิดผลกระทบแน่นอน อย่าง สกสค.เองก็จะต้องกระทบกับโครงการเงินกู้ ชพค. ชพส. เพราะฉะนั้นเมื่อมีคำสั่งศาลออกมา ก็ถือเป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายต้องการร่วมกันหารือถึงทางออกของปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ต้องแบ่งสัดส่วนการหักเงินให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้กระทบต่อตัวครูและสถาบันการเงิน”นายอรรถพลกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2562