สกศ.เดินสายรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใน 7 ประเด็นเดิม ที่ประชุมเปิดประเด็นใหม่ขอบรรจุเส้นทางความก้าวหน้าบุคลากรการศึกษาอื่น-คุ้มครองคนบรรจุใหม่
วันนี้ (25 ก.ย.) โรงแรมปรินซ์พาเลส มหานาค กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุม รับฟังความคิดเห็น ร่างพ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการ สกศ. ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นว่า กล่าวว่า นายณัฐฏพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการสภาการศึกษา ได้มอบหมายให้ สกศ. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จากกลุ่มต่างๆเพิ่มเติม ซึ่งในครั้งนี้มีข้อเสนอใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อาทิ เรื่องสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้ ที่ในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีการตั้งคำถามว่าควรเป็นองค์กรที่เป็นหน่วยงานราชการ เช่นเดียวกับกรมวิชาการเดิมหรือไม่ , เรื่องสถานะ สิทธิประโยชน์ เส้นทางความก้าวหน้าของ ข้าราชการสายสนับสนุน หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค (2) ที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาไม่ได้มีการเขียนรายละเอียดเช่นเดียวกับข้าราชการครู ทั้งๆที่ทำงานเหมือนกัน , เรื่องการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของครูบรรจุใหม่ หรือผู้บริหารสถานศึกษาใหม่ หลัง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ประกาศใช้ ซึ่งไม่ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ในร่างกฎหมายเลยมีแต่พูดถึงการคุ้มครองผู้ที่อยู่ในระบบ ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้บรรจุใหม่เสียไปหรือไม่ รวมถึงเรื่องสมรรถนะของครูผู้สอนในแต่ระดับชั้น ที่จะต้องไปผูกกับใบรับรองความเป็นครู และมีผลกระทบต่อวิทยฐานะของครู ซึ่งควรดูตลอดเส้นทาง เป็นต้น ทั้งนี้ จะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2562 จากนั้นจะประมวลเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่ง สกศ.ไม่ได้มีอำนาจในการแก้ไขร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ แต่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฏีกา เพื่อให้พิจารณาทบทวน ได้
ด้าน ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า สกศ.มี 7 ประเด็นเดิม รับฟังความคิดเห็นว่าผู้เข้าร่วมประชุมมีความคิดเห็นอย่างไร คือ
1.การกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับแนวทางในศตรวรรษที่ 21 โดยเน้นการพัฒนาคนให้เกิดสมรรถนะใน 7 ช่วงวัย
2.การกำหนดให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่ถูกพัฒนาเป็นสำคัญ จึงวางระบบการศึกษาเพื่อตอบวัตถุประสงค์/เป้าหมายของผู้เรียน หรือคนที่ต้องการพัฒนาตนเองดังกล่าว โดยกำหนดให้การศึกษามี 3 ระบบ ได้แก่ การศึกษาตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพ การศึกษาเพื่อการพัฒนาตนเอง และ การศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3.การกำหนดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา โดยบังคับว่าการที่เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาดังกล่าวต้องไม่ให้มุ่งแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่กฎหมายเฉพาะอาจกำหนดเงื่อนไขให้มุ่งแสวงหากำไรในบางกรณีได้
4.ท่านเห็นด้วยกับกรณีร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เปลี่ยนชื่อตำแหน่ง "ผู้อำนวยการสถานศึกษา" เป็น "ครูใหญ่" และ "รองผู้อำนวยการสถานศึกษา" เป็น "ผู้ช่วยครูใหญ่" หรือไม่
5. เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีใบรับรองความเป็นครูแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือไม่
6.เห็นด้วยกับองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติหรือไม่ และ
7. ประเด็นอื่นๆ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 25 กันยายน 2562