ประธาน สครภ จวก”สุวิทย์”ทำสังคมไม่มั่นใจการสอนครูราชภัฏ เข้าใจราชภัฏคลาดเคลื่อน วอนรัฐเพิ่มงบฯรายหัวนักศึกษาครู ป.ตรีเท่ากับสายวิทย์
วันนี้ (14ก.ย.) ผศ.ดร.รัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (สครภ) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)ว่าไม่มีองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการผลิตครู และเสนอให้มรภ.ผลิตครูเพื่อดูแลผู้สูงวัย ที่สำคัญเสนอให้มรภ.เลิกผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท และปริญญาเอกนั้น ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้สังคมขาดความเชื่อมั่นในจัดการศึกษาของมรภ.ในภาพรวมได้ ตนคิดว่ารมว.อว.คงยังไม่ทราบและเข้าใจคลาดเคลื่อนในหลายประเด็นว่าก่อนที่จะมาเป็นมรภ. เราเคยเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู เป็นวิทยาลัยครู สถาบันราชภัฏ และพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏในปัจจุบัน ซึ่งหลายแห่งมีอายุกว่าร้อยปี ดังนั้นด้านองค์ความรู้และประสบการณ์คงไม่แตกต่างจากสถาบันอื่นๆ
ผศ.ดร.รัฐกรณ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้คุณภาพบัณฑิตซึ่งเป็นศิษย์เก่าราชภัฏก็ประสบผลสำเร็จมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์มากมาย และมีบัณฑิตที่สอบบรรจุเข้าโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รวมถึงการสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยก็ได้เป็นอันดับต้นของประเทศ และปัจจุบันราชภัฏยังได้ผนึกกำลังความร่วมมือด้านการผลิตและพัฒนาครู โดยกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ราชภัฏ 20 ปีในการผลิตครูคุณภาพเป็นเลิศ โดยราชภัฏทั่วประเทศได้ร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรครู 4 ปี ฐานสมรรถนะ มีโครงการความร่วมมือในการจัดการศึกษากับหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี( สสวท.)ด้านการพัฒนาผู้สอนในการจัดการเรียนการวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เช่นรายวิชาสะเต็มศึกษา โค้ดดิ้ง ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ในการพัฒนาผู้สอนในรายวิชาเกี่ยวการพัฒนาสมองเพื่อการเรียนรู้ ร่วมมือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในรายวิชาพลเมือที่เข้มแข็ง และยังได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการผลิตครูต่อเนื่องมาปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ขณะที่ด้านการดูแลผู้สูงวัยนั้นราชภัฏได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งอยู่แล้ว
“ประเด็นที่ รมว.อว. ให้ราชกภัฏเลิกผลิตป.โท และเอก โดยอ้างระบบงบประมาณนั้น การจัดการศึกษาในระดับดังกล่าวรัฐไม่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณรายหัวให้กับนักศึกษาอยู่แล้วส่วนที่ให้มหาวิทยาลัยอื่นลดการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีนั้น ผมคิดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีพระราชบัญญัติจัดตั้งของตัวเอง ซึ่งแต่ละสถาบันจะผลิตบัณฑิตระดับใด สาขาใดก็สามารถทำได้ มีหลายสาขายังมีความจำเป็นในการพัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษา และบุคลากรด้านอื่นๆ ให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้น อย่างไรก็ตามหากสถาบันใด สาขาใดผลิตบัณฑิตไม่ได้มาตรฐานก็มีคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.)คอยกำกับติดตามอยู่แล้ว และหลักสูตรใดไม่มีคนเรียนก็ต้องปิดหลักสูตรด้วยตัวเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลคือการสนับสนุนรายหัวสำหรับการผลิตครูระดับปริญญาตรีทุกสาขาหัวละ 800 บาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับสายวิทย์ที่ได้หัวละ 3,000-6,000 บาท ทั้งที่เราผลิตครูสาขาวิทยาศาสตร์ก็ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่แตกต่างกัน “ประธาน สครภ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2562