ประธาน กพฐ.แฉเอง โรงเรียนควบรวมไปแล้ว ไม่มีนักเรียน แต่ กศจ.บางจังหวัดกลับตั้งผอ.โรงเรียนไปนั่งทำงาน
วันนี้(13 ก.ย.) รศ.ดร.เอกชัย กี่สุขพันธุ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เคยพูดกับ กพฐ.ถึงการควบรวมโรงเรียน ว่า โรงเรียนไหนที่สามารถควบรวมได้ก็น่าจะควบรวม เพราะต้องการเน้นเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพของงบประมาณ ที่สำคัญ รมว.ศึกษาธิการ พยายามพูดด้วยว่า เมื่อมีการควบรวมโรงเรียนแล้วสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารจะต้องไม่เสียไป และจะสร้างโรงเรียนที่ควบรวมให้ดีที่สุด ต้องมีอุปกรณ์การเรียนการสอน และโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม เพื่อให้เด็กได้รับสิ่งที่ดีกว่าเดิม
“ผมเข้าใจว่าคนที่ออกมาค้านการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก อาจจะมีความกังวลในบางประเด็น โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเดือนมีนาคม ที่ระบุว่า หากโรงเรียนใดมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จะไม่มีอัตราคืนบรรจุให้ ซึ่งตรงนี้ ครม.มองเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในที่ราบเท่านั้น ส่วนโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล บนเกาะ แก่ง ที่มีความจำเป็นก็จะไม่ยุ่งจะให้อยู่เหมือนเดิม แต่บางคนไปคิดเหมารวมกัน ออกมาค้านอย่างเดียว แต่ไม่เสนอทางเลือกให้เลย”ประธาน กพฐ.กล่าวและว่า ตามความคิดเห็นของตน คิดว่าการควบรวมโรงเรียนทำให้ครูครบชั้น เด็กมีเพื่อนมากขึ้น อุปกรณ์การเรียนการสอนพร้อมน่าจะดีกว่าปล่อยให้เด็กเรียนอยู่บนพื้นฐานที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่จะก้าวไปสู่ทศวรรษที่21 จึงอยากฝากบอกว่าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อผู้เกี่ยวข้องทุกระดับให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาของนักเรียน มากกว่าสถานภาพของตนเอง
รศ.ดร.เอกชัย กล่าวต่อไปว่า และที่น่าเป็นห่วง คือ ขณะนี้พบว่ามีโรงเรียนที่ควบรวมไปแล้ว 4-5 ปี แต่ไม่ทำเรื่องยกเลิกสถานศึกษาปรากฏว่าวันดีคืนดีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.)ไปแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนที่ไม่มีเด็กนักเรียน เมื่อมีการควบรวมไปแล้วก็ไม่ควรที่จะแต่งตั้งผู้บริหารลงไป เพราะเหมือนกับว่าโรงเรียนนั้นมีแต่ทะเบียนโรงเรียนแต่ไม่มีตัวนักเรียน และเมื่อแต่งตั้งกันแล้วก็ซ่อมแซมโรงเรียนที่ทรุดโทรมให้เป็นโรงเรียนใหม่ และมารับสมัครนักเรียนเข้ามาเรียนใหม่ ซึ่งตนว่ามันไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ในการประชุม กพฐ.ครั้งล่าสุดได้หารือกันว่า หากโรงเรียนใดควบรวมแล้วภายใน2ปี ไม่มีปัญหาก็ให้ทำเรื่องยกเลิกสถานศึกษาเดิมแล้วก็ตัดอัตราครูไปเลย เพราะตอนนี้เราต้องมาพูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็ก และความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากันแล้ว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562