นายจำนงค์ ประสานวงศ์ นายกสมาคมรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยแยกบัญชีการสอบแข่งขันเป็น ๓ บัญชี คือ บัญชีสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) และสำนักงานการศึกษาพิเศษอย่างชัดเจน โดยให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) แต่ละจังหวัดเป็นผู้กำหนด ในการใช้อัตราว่างตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และกศจ.แต่ละจังหวัดได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒นั้น
จากประเด็นดังกล่าวข้างต้นมีข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือ ที่ผ่านมา กศจ.บางจังหวัด มิได้มีการกำหนดให้ใช้อัตราว่างตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ไว้ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยอ้างว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และใช้วิธีการรับย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาจากสังกัด สพป.มาทั้งหมด ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม. ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดสพม.ของจังหวัดนั้น แต่ในแนวปฏิบัติเดียวกันนี้มี กศจ. บางจังหวัดได้พิจารณาใช้หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน โดยได้กำหนดสัดส่วนอัตราว่างในการ รับย้ายและกันตำแหน่งว่างไว้สำหรับดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาในอัตราส่วนที่เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ในสังกัด สพม.
จะเห็นได้ว่าการพิจารณาใช้ หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีการพิจารณาใช้ต่างกัน จึงส่งผลให้ กศจ.ที่ไม่มีการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ไม่มีบัญชีผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาเพื่อขึ้นบัญชีไว้ จำต้องรับย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษาจากสังกัด สพป. และในอนาคตหากยังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นนี้ ก็จะเกิดปัญหาเช่นนี้เรื่อยไป
จากการที่ กศจ. ที่มิได้ประกาศและดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม.ด้วยเหตุผลข้างต้น เป็นเหตุให้รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องและมีความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม. ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดที่มิได้ดำเนินการดังกล่าว ต้องไปสมัครสอบคัดเลือกในจังหวัดอื่น อันส่งผลต่อคะแนนการประเมินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศรับสมัครคัดเลือกของแต่ละ กศจ. ทั้งยังส่งผลการปฏิบัติงานราชการในอนาคตอีกด้วยทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลเดิมพบว่า ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีอื่น ในตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ ได้และตำแหน่งครูผู้ช่วยก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชีหนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชีอื่นหรือตำแหน่งอื่นได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ได้คำนึงถึงคุณธรรมความคุ้มค่าประหยัด โปร่งใสตรวจสอบได้ ล้วนแล้วแต่เพื่อประโยชน์ต่อราชการทั้งสิ้น
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ต่อราชการ และให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน จึงขอความอนุเคราะห์เป็นอย่างสูงยิ่งจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โปรดมีบัญชาหรือคำสั่งให้ ก.ค.ศ. และหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา และกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ในบัญชีของ กศจ.หนึ่ง ไปขึ้นบัญชีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ในบัญชี กศจ.อื่นได้ และได้โปรดพิจารณาดำเนินการโดยเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของราชการ และเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้าของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือก และผ่านการพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ในช่วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด
อนึ่ง หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา และไม่กำหนดหลักเกณฑ์การนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ในบัญชี กศจ.หนึ่ง ไปขึ้นบัญชีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชี กศจ.อื่น อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาหลายอย่างอาทิ เช่น
๑. อาจเป็นช่องทางในการวิ่งเต้นเกี่ยวกับการย้าย และแสวงหาผลประโยชน์อันมิควรของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะการย้ายข้ามสังกัด เนื่องจากไม่มีเปิดสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.
๒. เกิดการเลื่อนไหลของผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพป.ไปสังกัด สพม.เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ไม่เหลือตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ไว้เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้ง ทั้งนี้การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาแต่ละครั้ง ได้แยกบัญชีสังกัด สพป. และ สพม. อย่างชัดเจนอยู่แล้ว แต่มีบางคนประสงค์เข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพป. ก่อน แล้วดำเนินการตามกระบวนการที่ไม่เหมาะสมเพื่อย้ายมาสังกัด สพม.ในภายหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
๓. หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ข้อ ฉ (๑) มีความคลุมเครือไม่ชัดเจน อาจเปิดช่องทางให้มีการเลือกปฏิบัติที่แตกต่างกัน โดยเห็นได้จากมีบาง กศจ.พิจารณารับย้ายตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาจาก สพป.มาแทนตำแหน่งว่างของผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม.ทั้งหมด แต่มีบาง กศจ.พิจารณากำหนดสัดส่วนการรับย้ายและกันตำแหน่งว่างไว้ เพื่อสอบคัดเลือกในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม.ตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาตามข้อ ฉ (๑) เช่นเดียวกัน
๔. การให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพป. สามารถย้ายข้ามสังกัดมายัง สพม.ได้ทั้งที่ได้เข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาไปแล้วนั้น เป็นการสกัดกั้นและปิดโอกาสความเจริญก้าวหน้าของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกและ ขึ้นบัญชีเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม.ทั่วประเทศ ในการเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพม.
๕. ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอันเนื่องมาจากการย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษามาจากต่างสังกัด เช่น ผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัด สพป.บางคน ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.โดยไม่เคยเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด สพม. มาก่อนเป็นเหตุให้ขาดประสบการณ์ในการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งมีบริบทในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนที่แตกต่างกัน
ดังนั้นเพื่อประโยชน์ต่อราชการ อีกทั้งให้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติในแนวเดียว และกันป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอความอนุเคราะห์ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โปรดพิจารณาให้มีบัญชาหรือสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้
๑. ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาตามที่อ้างถึง ๔ ให้สามารถพิจารณาใช้ตำแหน่งว่างในการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือพิจารณาบรรจุและแต่งตั้งบุคคลจากบัญชีผู้ผ่านการคัดเลิอกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในสังกัดเดียวกันจาก กศจ.อื่น
๒. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ในบัญชีของ กศจ.หนึ่ง ให้สามารถนำไปขึ้นบัญชีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาในบัญชี สังกัดเดียวกันใน กศจ.อื่น เพื่อประหยัดงบประมาณของราชการจากการเปิดสอบคัดเลือก และอบรมพัฒนาฯ
๓. ยกเลิกมติของ กศจ.บางจังหวัด ที่ไม่มีบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ที่ได้มีมติรับย้ายไปแล้วหรือกำลังดำเนินการ และหรือให้ชะลอการใช้ตำแหน่งว่างที่เกิดจากการเกษียณอายุราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ในการรับย้ายผู้อำนวยการสถานศึกษา จนกว่าจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชีของ กศจ.หนึ่งไปขึ้นบัญชีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชี กศจ.อื่น ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดเดียวกัน
๔. ผลักดันให้ กศจ.ในจังหวัดที่ไม่มีบัญชีผู้ผ่านการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สพม.ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชีของ กศจ.หนึ่ง ไปขึ้นบัญชีเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกในบัญชี กศจ.อื่น ในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดเดียวกัน และใช้ตำแหน่งว่างที่เกิดจากการเกษียณอายุราชการประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๒ ในการกำหนดสัดส่วนรับย้ายและบรรจุแต่งตั้งให้ชัดเจน
นายจำนงค์ฯยังได้เปิดเผยอีกว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่บัญญัติไว้ว่า “เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยการศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีระบบการบริหารและการจัดการศึกษา ของทั้งสองระดับรวมอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ทาให้การบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเกิดความไม่คล่องตัวและเกิดปัญหาการพัฒนาการศึกษา สมควรแยกเขตพื้นที่การศึกษา ออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เพื่อให้การบริหารและการจัด การศึกษามีประสิทธิภาพ อันจะเป็นการพัฒนาการศึกษาแก่นักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้ สัมฤทธิผลและมีคุณภาพยิ่งขึ้น จึงจาเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”