สถานี ก.ค.ศ.
ดิจิทัลกับชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูสิงคโปร์
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทุกท่านคะ ในสัปดาห์นี้จะขอหยิบยก เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับการนำดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาครูผู้สอนของสิงคโปร์ผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ จากการประชุมนานาชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 3 : ดิจิทัลกับการบริหารงานบุคคล (The 3rd International Meeting on Personnel Administration of Teachers and Educational Personnel : Digital Transformation) เมื่อวันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ กรุงเทพมหานคร
ผู้แทนจากสิงคโปร์ได้นำเสนอข้อมูลว่า สิงคโปร์ได้รับการพัฒนาให้เป็นประเทศอัจฉริยะ มีแผนแม่บทในเรื่อง ICT ด้านการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยปัจจุบันดำเนนการมาถึงแผนแม่บทที่ 4 เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แผนแม่บทดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำพิมพ์เขียวสำหรับการพัฒนา สภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้พรั่งพร้อมไปด้วยดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ แผนแม่บทที่ 4 นี้ยังมุ่งเน้นไปทุการเรียนรู้และการฝึกฝนของครูผู้สอนให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการใช้ดิจิทัล กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ได้สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่ครูผู้สอนเพื่อให้เป็นมืออาชีพ โดยพัฒนาความสามารถผ่าน การใช้ดิจิทัลเข้ากับการเรียนการสอน การประชุมเชิงปฏิบัติการแบบตัวต่อตัว การเรียนรู้ผ่านหลักสูตร ออนไลน์และชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ทั้งนี้ ครูผู้สอนสามารถปรับกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะกับ ตนเองตามความต้องการและความสนใจในการเรียนรู้
จากการทุกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์มุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน ให้นักเรียนพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ครูผู้สอนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จึงริเริ่ม "พื้นที่การเรียนรู้ของนักเรียนสิงคโปร์" (SingaporeStudentLearning Space - SLS) ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ตามหลักสูตรผ่านช่องทาง ดิจิทัลด้วยเครื่องมือที่หลากหลายให้กับนักเรียน ครูผู้สอนสามารถใช้ช่องทางนี้ในการออกแบบบทเรียน ที่เหมาะสม ซึ่งพื้นที่การเรียนรู้ดิจิทัลนี้จะมีแม่แบบของชุดบทเรียนที่ใช้งานง่ายพร้อมเครื่องมือการสอน ให้ครูผู้สอนสามารถปรับปรุงและพัฒนาแม่แบบดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของ นักเรียนที่แตกต่างกัน กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ยังได้อำนวยความสะดวกโดยจัดห้องเรียนแบบเปิด เพื่อให้เพื่อนครูเข้าสังเกตการณ์และให้คำติชมหรือข้อเสนอแนะจากเพื่อนครูด้วยกัน เพื่อสังเกตว่าเพื่อน ของพวกเขาใช้ดิจิทัลในชั้นเรียนอย่างไร และนำไปปรับปรุงบทเรียนต่อไป
ระบบ SLS ถือเป็นชุมชนการเรียนรู้แบบเครือข่ายสำหรับครูผู้สอนในสิงคโปร์ที่ช่วยให้ครูสิงคโปร์ มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันและร่วมมือกันในการออกแบบการเรียนรู้ด้วยดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันมีครูมากกว่า 5,500 คน ในชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพออนไลน์และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ดิจิทัลกับชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูสิงคโปร์ เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำดิจิทัลมาใช้ พัฒนาครูผู้สอนในรูปแบบชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน หวังว่าแนวทางดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน
ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์
เลขาธิการก.ค.ศ.
ที่มา สำนักงาน ก.ค.ศ.