สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำจัดจุดอ่อนการศึกษาไทย ปรับการวัดและประเมินผลใหม่ เน้น ประเมินทักษะและสมรรถนะให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21
วันนี้ (10 ก.ย.) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับปัจจุบันโดยให้สถานศึกษามุ่งเน้นการประเมินทักษะ และสมรรถนะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านข้อมูลสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และทักษะด้านชีวิตและวิชาชีพ โดยกำหนดให้สถานศึกษานำทักษะทั้ง 3 ด้านมาใช้วัดและประเมินผลในห้องเรียนตามสภาพจริงแทนการวัดและประเมินผลด้วยแบบทดสอบ คือ 1.การกำหนดโจทย์ให้ปฎิบัติหรือแก้ไขปัญหาที่อยู่ในโลกแห่งความจริงและชีวิตประจำวันของผู้เรียน 2.ใช้วิธีกระตุ้นให้ผู้เรียนปฎิบัติหรือแสดงออกเกี่ยวกับความรู้ 3.ใช้เครื่องมือวัดที่หลากหลายแต่ต้องสอดคล้องกับผลที่เกิดจากการเรียนรู้ 4.สร้างเกณฑ์สำหรับใช้วัดและประเมินผล 5.เน้นให้นักเรียนสะท้อนผลการเรียนรู้ของตนเอง และ6.ส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาข้อสอบวัดความสามารถด้านการคิดขั้นสูงแบบคิดวิเคราะห์ เพื่อใช้ประเมินผลในชั้นเรียน
“สำหรับการปรับปรุงการวัดและประเมินผลของสพฐ.นี้ เพื่อต้องการกำจัดจุดอ่อนของการศึกษาไทย เพราะที่ผ่านมาการวัดและประเมินผลมุ่งแต่มองผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้วัดและประเมินผลครอบคลุมในทุกมิติ ดังนั้นการปรับปรุงดังกล่าวนอกจากจะสอดคล้องกับนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่ต้องการสร้างผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 แล้วยังรวมไปถึงการดำเนินโครงการต่างๆของสพฐ.มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนประเด็นที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ระบุว่า โรงเรียนสังกัดสพฐ.ส่งรายงานการประเมินตนเองเพียง 1,000 กว่าแห่งนั้น เรื่องนี้รับทราบว่าทุกโรงเรียนอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งตนได้แจ้งให้โรงเรียนทุกแห่งได้เตรียมความพร้อมในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ของสมศ.อย่างเต็มที่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ อีกทั้งสพฐ.ยังได้กำหนดเป้าหมายโรงเรียนที่จะเข้าประเมินรอบนี้ประมาณ 3,000 – 4,000 แห่งด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 10 กันยายน 2562