"ณัฏฐพล"เตรียมถก"สุวิทย์"ปรับผลิตครู
เสมา 1 เตรียม ถก รมว อว.ผลิตครูคุณภาพป้อนความต้องการภูมิภาค ให้มหาวิทยาลัยเติมความเข้มข้นแยกระดับชั้น ไม่ใช่ให้ ศธ.เสียงบประมาณซ้ำซ้อนพัฒนาครู
วันนี้ (9 ก.ย.) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบนโยบาย ของ ศธ.ที่จะเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะเรื่องการผลิตพัฒนาครู ซึ่งในส่วนของครูประจำการที่อยู่ในระบบนั้นเป็นหน้าที่ของ ศธ. ที่จะต้องดูแล ส่วนครูที่กำลังจะเข้ามาในระบบนั้น ตนไม่อยากให้มีการเสียงบประมาณซ้ำซ้อนเมื่อบรรจุเป็นครูประจำการแล้วต้องพัฒนาเพิ่มเติมอีก ดังนั้น เร็วๆนี้ จะพูดคุยทำความเข้าใจกับฝ่ายผลิตครู ให้ชันเจนว่า ศธ. ต้องการครูที่มีคุณสมบัติ และมาตรฐานอย่างไรบ้าง เช่น ต้องการครูที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ก็ต้องดูว่ามาตรฐานในการสอนภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยเพียงพอหรือไม่ ที่จะใช้ในการสอนสำหรับเด็ก เป็นต้น
“การผลิตครูเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากมหาวิทยาลัยยังมีความเข้มข้นในการเรียนการสอนไม่เพียงพอ ก็ต้องมาพัฒนาต่อ เหมือนที่ ศธ.กำลังจะพัฒนาครูที่อยู่ในระบบ ซึ่งวางแผนว่า อีก 3 ปี ครูในระบบจะต้องมีความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่ ดังนั้น ทำไมเราไม่หารือและให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการให้เข้มข้นขึ้น ซึ่งทางสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย ก็จะไปพูดเรื่องดังกล่าวให้หลายๆมหาวิทยาลัยรับทราบต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)อย่างไม่เป็นทางการมาบ้างแล้ว แต่เร็วๆ นี้จะนัดหารืออย่างเป็นทางการอีกครั้งเพื่อวางแผนร่วมกันให้ละเอียด”นายณัฏฐพล กล่าว
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า การผลิตครู ในแต่ละระดับชั้นมีความเข้มข้นต่างกันเช่น ครูปฐมวัย ครูประถมศึกษา และครูมัธยม ศึกษา จิตวิทยาในแต่ละช่วงอายุของเด็กมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การเรียนการสอนนักศึกษาครูในมหาวิทยาลัย ก็ควรต้องมีการแยกให้เหมาะสมในแต่ละระดับ สำหรับข้อเสนอเรื่องการผลิตครูในระบบปิดเช่นเดียวกับการผลิตแพทย์ นั้น หลายประเทศสามารถดำเนินการได้ เช่น สิงคโปร์ และ ฟินแลนด์ เพราะเป็นประเทศเล็ก มีขนาดที่ยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ในส่วนของประเทศไทย ตนมองในเรื่องของภูมิภาค ถ้ามีความเข้าใจและรู้ถึงความต้องการของตลาดแรงงานว่า ในแต่ละภูมิภาคมีความต้องการอย่างไร ก็จะสามารถบริหารจัดการได้ เช่น การผลิตครูช่าง อาทิ ช่างเครื่องบิน ตอนนี้มี สถาบันที่เปิดสอนเรื่องการบินพลเรือนจำนวนมาก และในอนาคตจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต ก็ควรเปิดสอนในพื้นที่ที่มีความต้องการไม่ใช่กระจายสอนทั่วประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันถ้ามอง เรื่องของการบินพลเรือน ในการผลิตบุคลากรมาเสริมตนดูแล้วอีก 3 ปีข้างหน้าเรามีจำนวนคนพอ แต่คนที่มีคุณภาพจะรองรับการเจริญเติบโตของประเทศไทย ที่จะเป็นศูนย์กลางของการบินในเอเชียอาจจะไม่ได้มีคุณภาพ ซึ่งเด็กที่เราผลิตออกมาพร้อมหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับครู ครูอาจจะยังไม่เพียงพอ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องมีการหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2562